วันพุธที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2555

เรือหลวงสุรินทร์



เรือหลวงสุรินทร์



เรือหลวงสุรินทร์
ประวัติเรือราชนาวีไทย
ต่อที่:บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด บางรัก กรุงเทพ ฯ
วางกระดูกงูเรือ:30 ตุลาคม พ.ศ. 2529
ปล่อยเรือลงน้ำ:25 ธันวาคม พ.ศ. 2530
ขึ้นระวางประจำการ:20 มีนาคม พ.ศ. 2532
สถานภาพ:ประจำการ
ข้อมูลจำเพาะ
ชื่อเรือ:• ไทย: ร.ล.สุรินทร์
• อังกฤษ: HTMS SURIN
ผู้บังคับการเรือ:
ประเภท:เรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่
ระวางขับน้ำ:เต็มที่ 4,245 ตัน
ความยาว:รวม 112.48 เมตร
ความกว้าง:15.40 เมตร
กินน้ำลึก:4.14 เมตร
เครื่องจักร:เครื่องยนต์ดีเซล
ความเร็วสูงสุด/ต่ำสุด:
รัศมีทำการสูงสุด/ต่ำสุด:
กำลังพลประจำการ:
อาวุธ:
เรือหลวงสุรินทร์ (H.T.M.S.SURIN) เป็น เรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ สังกัด กองเรือยกพลขึ้นบก กองเรือยุทธการ

[แก้]ข้อมูลทั่วไป

  • นามเรียกขานสากล H S Z X (หมายเลขเรือ 722)
  • ผู้สร้าง บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด บางรัก กรุงเทพ ฯ
  • ประเภทเรือ เรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่
  • สังกัด กองเรือยกพลขึ้นบก กองเรือยุทธการ
  • วางกระดูกงูเมื่อ 30 ต.ค. 2529
  • ปล่อยเรือลงน้ำเมื่อ 25 ธ.ค.2530
  • รับมอบเมื่อ 16 ธ.ค.2531
  • ขึ้นระวางประจำการเมื่อ 20 มี.ค. 2532
  • วัสดุสร้างตัวเรือ เหล็กกล้าดีเหนียว
  • วัสดุสร้างส่วนประกอบตัวเรือ เหล็ก


คุณลักษณะตัวเรือ[1]

  • ระวางขับน้ำ ปกติ 2,982 ตัน เต็มที่ 4,245 ตัน
  • ความยาว ตลอดลำ 112.48 เมตร ที่แนวน้ำ 105.0 เมตร
  • ความกว้าง มากที่สุด 15.40 เมตร ที่แนวน้ำ 15.40 เมตร
  • ความสูง ถึงดาดฟ้าใหญ่ 7.8 เมตร ถึงยอดเสา 21.2 เมตร
  • กินน้ำลึก ปกติ หัว 1.35 เมตร ท้าย 1.42 เมตรเต็มที่ หัว 2.06 เมตร ท้าย 4.14 เมตร


อ้างอิง

วันพุธที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2555

ประวัติศาสตร์นครลำปาง


จังหวัดลำปาง เป็นจังหวัดที่มีความเก่าแก่และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มาแล้วไม่น้อยกว่า 1,300 ปี ตั้งแต่สมัยหริภุญชัย (พระนางจามเทวี) เป็นต้นมาคือ ราวพุทธศตวรรษที่ 13 ชื่อของเมืองเขลางค์อันเป็นเมืองในยุคแรก ๆ และเมืองนครลำปาง ปรากฏอยู่ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์หลายแห่ง ทั้งจากตำนานศิลาจารึกพงศาวดาร และจากคำที่นิยมเรียกกันโดยทั่วไปอย่างแพร่หลาย ได้แก่ตำนานพระนางจามเทวี ชินกาลบาลีปกรณ์ ตำนานมูลศาสนา ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ตำนานเจ้าเจ็ดตน พงศาวดารโยนก
       คำว่า '"ละกอน" หรือ "ละคร" (นคร) เป็นชื่อสามัญของเมืองเขลางค์ที่นิยมเรียกกันอย่างแพร่หลาย ทั้งในตำนานและภาษาพูดโดยทั่วไป แม้แต่จังหวัดใกล้เคียงเช่น แพร่ น่าน เชียงราย ลำพูน เชียงใหม่ มักจะเรียกชาวลำปางว่า "จาวละกอน" ซึ่งหมายถึง ชาวนคร คำว่าละกอนมีชื่อทางภาษาบาลีว่า เรียกว่า "เขลางค์ "เช่นเดียวกับ ละพูรหรือลำพูน ซึ่งทางภาษาบาลีเรียกว่า "หริภุญชัย"และเรียกลำปางว่า "ลัมภกัปปะ" ดังนั้น เมืองละกอนจึงหมายถึง บริเวณอันเป็นที่ตั้งของเมืองเขลางค์ คือเมืองโบราณรูปหอยสังข์ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำวัง อยู่ในตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง
       ส่วนคำว่า"ลำปาง" เป็นชื่อที่ปรากฎหลักฐานอย่างชัดแจ้งในตำนานพระธาตุลำปางหลวง ซึ่งมีชื่อเรียกเป็นภาษาบาลีว่า "ลัมภกัปปนคร" ตั้งอยู่บริเวณลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง อยู่ห่างจากตัวเมืองลำปางไปทางทิศใต้ตามแม่น้ำวังประมาณ 16 กิโลเมตร อันเป็นที่ตั้งของวัดพระธาตุลำปางหลวงในปัจจุบัน ตัวเมืองลัมภกัปปนครมีพื้นที่ประมาณ 200 ไร่
       ลักษณะของเมือง ศึกษาดูจากภาพถ่ายทางอากาศและการเดินสำรวจทางภาคพื้นดิน พบว่ามีคันคูล้อมรอบ 3 ชั้น (แต่ปัจจุบันเหลือเพียงบางส่วนเท่านั้น) นอกจากนี้พบเศษกระเบื้อง ภาชนะดินเผา เศียรพระพุทธรูปดินเผาสมัยหริภุญชัยและสถูปแบบสมัยหริภุญชัย สันนิษบานว่าเมืองลัมภกัปปะนี้น่าจะเป็นเมืองกัลปนาสงฆ์ (เมืองทางศาสนา) มากกว่าจะเป็นเมืองทางอาณาจักรที่มีอำนาจทางการปกครองบ้านเมืองอย่างเป็นระเบียบแบบแผน
       ตามตำนาน วัดพระธาตุลำปางหลาง (ฉบับสาขาสมาคม เพื่อการรักษาสมบัติวัฒนธรรมประจำจังหวัดลำปาง) ได้กล่าวถึงเรื่องราวของเมืองลำปางไว้ว่า
       "พระพุทธเจ้าได้เสด็จด้วยลำดับบ้านใหญ่เมืองน้อย ทั้งหลาย พระพุทธเจ้าไปรอดบ้านอันหนึ่งชื่อ ลัมพการีวัน พระพุทธเจ้านั่งอยู่เหนือดอยม่อนน้อย สูงสะหน่อย ยังมีลัวะ ชื่ออ้ายคอน มันหันพระพุทธเจ้า เอาน้ำผึ้งใส่กระบอกไม้ป้างมาหื้อทานแก่พระพุทธเจ้า กับหมากพ้าว 4 ลูก พระพุทธเจ้ายื่นบอกน้ำเผิ้งหื้อแก่มหาอานนท์ถอกตกปากบาตร พระพุทธเจ้าฉันแล้ว ชัดบอกไม้ไปตกหนเหนือ แล้วพระพุทธเจ้าทำนายว่า สถานที่นี้จักเป็นเมืองอันหนึ่งชื่อ "ลัมภางค์"
       ดังนั้นนามเมืองลำปาง จึงหมายถึงชื่อของเมืองอันเป็นที่ตั้งของพระธาตุลำปางหลวงในปัจจุบัน
       จังหวัดลำปางเดิมชื่อ "เมืองนครลำปาง" จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้ระบุไว้อย่างชัดเจน ได้แก่ ศิลาจารึก เลขทะเบียน ลป.1 จารึกเจ้าหมื่นคำเพชรเมื่อ พ.ศ.2019 และศิลาจารึกเลขทะเบียน ลป.2 จารึกเจ้าหาญสีทัต ได้จารึกชื่อเมืองนี้ว่า "ลคอร" ส่วนตำนานชินกาลมารีปกรณ์ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ตำนานเมืองเชียงแสน ตลอดจนพงศาวดารของทางฝ่ายเหนือ ก็ล้วนแล้วแต่เรียกชื่อว่า เมืองนครลำปาง แม้แต่เอกสารทางราชการสมัยรัตนโกสินตอนต้น ก็เรียกเจ้าเมืองว่า พระยานครลำปาง นอกจากนี้จารึกประตูพระอุโบสถวัดบุญวาทย์วิหาร ก็ยังมีข้อความตอนหนึ่งจารึกว่า เมืองนครลำปาง แต่เมื่อมีการปฏิรูปบ้านเมืองจากมณฑลเทศาภิบาลเป็นจังหวัด ตามคำสั่งของกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2459 ปรากฏว่า ชื่อของเมืองนครลำปาง ได้กลายมาเป็นจังหวัดลำปาง มาจนกระทั่งทุกวันนี้

 ประวัติความเป็นมาของเมืองนครลำปาง

       เรื่องราวของเมืองนครลำปางในยุคแรกๆ หรือยุคเมืองเขลางค์นั้น ส่วนใหญ่ทราบหลักฐานในตำนาน ชินกาลบาลีปกรณ์ ซึ่งได้กล่าวถึงประวัติการสร้างเขลางค์ ในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 13 ว่า
       ในราว พ.ศ.1200 พระสุเทวฤษี ซึ่งอาศัยอยู่ที่ดอยสุเทพได้เชิญชวนให้พระสุกทันตฤษีแห่งละโว้ มาช่วยกันสร้างเมืองนครหริภุญชัย เมื่อสร้างเสร็จแล้วจึงไปทูลขอผู้ปกครองจากพระเจ้านพราชกษัตริย์แห่งละโว้ (ลพบุรี) ซึ่งได้ประทานพระนางจามเทวี ราชธิดาให้มาเป็นผู้ปกครอง พร้อมกับนำพระภิกษุสงฆ์ผู้รอบรู้ในพระไตรปิฎก พรามณ์โหรา นักปราชญ์ราชบัณฑิต แพทย์ ช่างฝีมือ เศรษฐี คหบดีอย่างละ 500 คนมาด้วย ขณะนั้นพระนางทรงครรภ์ เมื่อมาถึงได้ราว 3 เดือน ก็ประสูติพระโอรสฝาแฝด ผู้พี่ทรงพระนามว่า "เจ้ามหันตยศกุมาร" ส่วนผู้น้องทรงพระนามว่า "เจ้าอนันตยศกุมาร" เมื่อพระโอรสทั้ง 2 ทรงเจริญวัยขึ้น ประกอบกับพระนางชราภาพมากแล้ว จึงได้ทำพิธีราชาภิเษกให้ เจ้ามหันตยศกุมารขึ้นเป็นกษัตริย์ ครองเมืองหริภุญชัย ส่วนเจ้าอนันตยศกุมารทรงดำรงตำแหน่ง อุปราช
       ตำนานเล่าว่า เมื่อพระนางจามเทวีได้ราชาภิเษก ให้เจ้ามหันตยศกุมารขึ้นเป็นกษัตริย์ครองเมืองหริภุญชัยแล้ว ฝ่ายเจ้าอนันตยศกุมารก็ปรารถนาอยากไปครองเมืองแห่งใหม่ จึงนำความขึ้นกราบบังคมทูลให้พระมารดาได้ทรงทราบ พระนางทรงแนะนำให้ไปหา ฤษีวาสุเทพ เพื่อขอให้สร้างเมืองถวาย แต่ฤษีวาสุเทพได้แนะนำให้ไปหาพรานเขลางค์ซึ่งอยู่ที่ภูเขาบรรพต ดังนั้นพระเจ้าอนันตยศจึงพาข้าราชบริพารเสด็จออกจากหริภุญชัยไปยังเขลางค์บรรพต ครั้นเมื่อพบพรานเขลางค์แล้ว ก็ทรงขอให้นำไปพบพระสุพรหมฤษีบนดอยงามหรือภูเขาสองยอด แล้วขออาราธนาช่วยสร้างบ้านเมืองให้ พระสุพรหมฤษีจึงขึ้นไปยังเขลางค์บรรพตเพื่อมองหาชัยภูมิสร้างเมือง เมื่อมองไปทางยังทิศตะวันตกของแม่น้ำวังกนที ก็เห็นสถานที่แห่งหนึ่งเป็นชัยภูมิที่เหมาะสม จึงได้สร้างเมืองขึ้นที่นั่น โดยกำหนดให้กว้างยาวด้านละ 500 วาแล้วเอาศิลาบาตรก้อนหนึ่งมาตั้งเป็นหลักเมืองเรียกว่า "ผาบ่อง" เมื่อสร้างเสร็จแล้วจึงขนานนามตามชื่อ ของนายพระหมผู้นำทางและมีส่วนร่วมในการช่วยสร้างเมืองว่า "เขลางค์นคร" และยังมีชื่อเรียกในตำนานกุกุตนครว่า"ศิรินครชัย" อีกนามหนึ่ง
       ภายหลังสร้างเมืองแล้วเสร็จ พระเจ้าอนันตยศได้ทรงราชาภิเษกเป็นกษัตริย์ทรงพระนามว่า "พระเจ้าอินทรเกิงการ" พระองค์ครองเมืองเขลางค์อยู่ได้ไม่นาน ก็ทรงมีความรำลึกถึงมารดา จึงได้ทูลเชิญเสด็จพระนางจามเทวี พร้อมทั้งสมณชีพราหมณ์ มายังเมืองเขลางค์นคร ทรงสร้างเมืองให้พระราชมารดาประทับอยู่เบื้องปัจฉิมทิศแห่งเขลางค์นคร ให้ชื่อว่า "อาลัมพางค์นคร"

 เรื่องราวเกี่ยวกับที่ตั้งของเมืองเขลางค์นคร

       เมื่อสำรวจผังเมือง จากภาพถ่ายทางอากาศและการสำรวจภาคพื้นดิน รวมทั้งการศึกษาเรื่องราวในตำนานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเมืองเขลางค์พบว่า ผังเมืองอันเป็นที่ตั้งของเมืองเขลางค์แบ่งออกเป็น 3 ยุคได้แก่

ยุคแรกยุคสมัยจามเทวี
       ตั้งอยู่ในเขตตำบลเวียงเหนือ สร้างขึ้นราว พ.ศ. 1223 โดยพระสุพรหมฤษีสร้างถวายพระเจ้าอนันตยศกุมารหรือ อินทรเกิงการ โอรสของพระนางจามเทวี เป็นเมืองคู่แฝดของเมืองหริภุญชัย ผังเมืองมีลักษณะคล้ายรูปหอยสังข์ (สมุทรสังขปัตตสัณฐาน) กำแพงเมืองชั้นบนเป็นอิฐ ชั้นล่างเป็นคันดิน 3 ชั้น สันนิษฐานว่ากำแพงอิฐที่สร้างบนกำแพงดินเป็นการต่อเติมในสมัยหลัง มีความยาววัดโดยรอบ 4,400 เมตร สร้างในพื้นที่ประมาณ 600 ไร่ มีประตูเมืองสำคัญ ๆ ได้แก่ ประตูม้า ประตูผาป่อง ประตูท่านาง ประตูต้นผึ้ง ประตูป่อง ประตูนกกดและประตูตาล
       ปูชนียสถานที่สำคัญได้แก่ วัดพระแก้วดอนเต้า ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) ระหว่าง พ.ศ. 1979 - 2011 นอกจากนี้ยังมีโบราณสถานสำคัญอีกหลายแห่งได้แก่ วัดอุโมงค์ซึ่งเป็นวัดร้าง อยู่บริเวณประตูตาล ส่วนวัดที่อยู่นอกกำแพงเมืองได้แก่ วัดป่าพร้าว อยู่ทางด้านเหนือ วัดพันเชิง วัดกู่ขาวหรือเสตกุฎาราม ซึ่งเคยเป็นที่ประดิษฐานพระสิกขีปฏิมากร ในสมัยพระนางจามเทวี วัดกู่แดง วัดกู่คำ อยู่ทางทิศตะวันตก ในปัจจุบันนี้บริเวณวัดพันเชิงและวัดกู่แดง ถูกทำลายจนไม่เหลือสภาพของโบราณอยู่อีกต่อไป ระหว่างวัดกู่ขาวมายังเมืองเขลางค์มีแนวถนนโบราณ ทอดเข้าสู่ตัวเมืองทางประตูตาล สันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวี ขณะมาประทับอยู่ในเขลางค์นคร แนวถนนโบราณนี้ยังใช้เป็นคันกั้นน้ำป่าเพื่อทดน้ำเข้าสู่คูเมืองและแบ่งเข้าไปใช้ในตัวเมืองด้วย ระดับคูน้ำจะสูงกว่าแม่น้ำสายใหญ่ เมืองในยุคนี้มีการเก็บน้ำไว้ในคอรอบทิศ โดยให้มีระดับสูงกว่าแม่น้ำสายใหญ่ที่ไหลผ่านบริเวณใกล้เคียง ซึ่งเป็นแบบเฉพาะเมืองรูปหอยสังข์ยุคนี้เท่านั้น
       เมืองเขลางค์เป็นเมืองคู่แฝดกับเมืองหริภุญชัย มีชื่อในตำนานว่า เมืองละกอน หรือลคร ภายหลังจากสมัยพระเจ้าอนันตยศแล้ว สภาพของเมืองฝาแฝดกับหริภุญชัยก็หมดไป สันนิษฐานว่า เขลางค์นครมีเจ้าผู้ครองต่อมาอีกประมาณ 500 ปีแต่ไม่ปรากฏพระนามในหลักฐานหรือเอกสารใดๆ จนกระทั่งถึง พ.ศ. 1755 ได้ปรากฏชื่อของเจ้านายเมืองเขลางค์พระองค์หนึ่งมีพระนามว่า เจ้าไทยอำมาตย์แห่งเขลางค์ ได้แย่งชิงอำนาจจากพระยาพิณไทย เจ้าเมืองลำพูนแล้วสถาปนาพระองค์ปกครองหริภุญชัยสืบต่อกันมาถึง 10 รัชกาล จนกระทั่งถึงสมัยพระยายีบา ก็สูญเสียอำนาจให้แก่พระยามังราย ใน พ.ศ. 1844


ยุคที่สองสมัยลานนาไทย
       เมืองเขลางค์ยุคที่ 2 เป็นเมืองที่สร้างขึ้นในสมัยลานนาไทย มีเนื้อที่ประมาณ 180 ไร่ กำแพงยาว 1,100 เมตร ตั้งอยู่ในตำบลเวียงเหนือ อยู่ถัดจากเมืองเขลางค์ยุคแรกลงมาทางใต้ เป็นเมืองที่ก่อกำแพงด้วยอิฐ ประตูเมืองที่มีชื่อปรากฏคือ ประตูเชียงใหม่ ประตูนาสร้อย ประตูปลายนาอันเป็นประตูที่อยู่ร่วมกับประตูนกกต ตอนท่อนหัวสังข์ของตัวเมืองเก่าและประตูป่อง ที่ประตูป่องยังคงมีซากหอรบรุ่นสมัยเจ้าคำโสมครองเมืองลำปาง ซึ่งได้ใช้เป็นปราการต่อสู้กับพม่าครั้งสำคัญ ในปี พ.ศ. 2330 พม่าล้อมเมืองอยู่เป็นเวลานาน จนกระทั่งกองทัพทางกรุงเทพฯ ยกขึ้นมาช่วยขับไล่พม่าแตกพ่ายไป
       โบราณสถานสำคัญในเมืองเขลางค์ยุคที่ 2 ได้แก่วัดปลายนาซึ่งเป็นวัดร้างและวัดเชียงภูมิ หรือวัดปงสนุกในปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าพ่อลิ้นก่านที่ดำน้ำชิงเมืองแข่งกับเจ้าฟ้าหลวงชายแก้ว (บิดาของเจ้า 7 ตน) แต่เจ้าลิ้นก่านแพ้จึงถูกพม่าประหารชีวิต สันนิษฐานว่าพระเจ้าลิ้นก่านคงจะเป็นเจ้าสกุลล้านนาไทยองค์สุดท้ายที่อยู่ในเมืองเขลางค์
เมืองเขลางค์สมัยลานนาไทย ได้รวมเอาเมืองเขลางค์ยุคแรก (เมืองรูปหอยสังข์) กับเมืองเขลางค์ยุคใหม่เช้าด้วยกัน ตั้งอยู่เขตฝั่งตะวันตกของแม่น้ำวัง ซึ่งเรียกกันอย่างแพร่หลายในตำนานต่าง ๆ ของทางเหนือว่า"เมืองละกอน"

 ความสำคัญของเมืองละกอนในสมัยราชวงศ์เม็งราย (พ.ศ.1839 - 2101)

       เมื่อพระเจ้าเม็งรายสร้างเมืองเชียงใหม่เป็นราชธานี ในปี พ.ศ.1839 แล้ว ได้แผ่ขยายอิทธิพลมาครอบครองลำพูนและเมืองลคร (เขลางค์) กล่าวคือในพ.ศ. 1844 พระเจ้าเม็งรายโปรดให้ขุนคราม โอรส ยกกองทัพไปตีเมืองลำพูน พระยายีบาสู้ไม่ได้ จึงอพยพหนีมาพึ่งพระยาเบิกพระอนุชาที่เมืองลคร (เขลางค์) กองทัพของพระเจ้าเม็งรายซึ่งมีขุนครามเป็นแม่ทัพ ได้ยกติดตามมาประทะกับกองทัพของพระยาเบิกที่ริมน้ำแม่ตาล ปรากฏว่าพระยาเบิกเสียชีวิตในการสู้รบ ส่วนพระยายีบาเจ้าเมืองลำพูน ได้พาครอบครัวหนีไปพึ่งเจ้าเมืองสองแคว (พิษณุโลก ) ประทับอยู่ที่นั่นจนสิ้นพระชนม์ จึงสิ้นวงศ์เจ้าผู้ครองเขลางค์ยุคแรก
       ส่วนเรื่องราวในตำนานชินกาลมาลีปกรณ์ ได้กล่าวเพิ่มเติมต่อไปอีกว่า ภายหลังจากที่พระเจ้าเม็งรายได้รับชัยชนะต่อพระยาเบิกแล้ว ได้แต่งตั้งชาวมิลักขะเป็นเจ้าเมืองแทน เจ้าเมืองคนใหม่พยายามชักชวนชาวเมืองเขลางค์สร้างเมืองใหม่ ซึ่งกลายเป็นเมืองเขลางค์ยุค 2 หลังจากนี้ก็มีเจ้าผู้ครองนครซึ่งมียศเป็นหมื่นปกครองสืบต่อกันมา เป็นเวลานาน จนกระทั่งสิ้นราชวงศ์เม็งราย พม่าก็แผ่อิทธิพลเข้ามาแทนที่ในสมัยพระเจ้าบุเรงนอง
       เมืองนครลำปางเป็นหัวเมืองสำคัญของลานนาไทยมาจนกระทั่งถึงสมัยพระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์พม่าแห่งหงสาวดีได้แผ่อำนาจเข้าครอบครองลานนาไทยใน พ.ศ. 2101 ซึ่งสัญลักษณ์แห่งอำนาจของบุเรงนองยังปรากฏอยู่ทั่วไป ได้แก่ไม้แกะสลักรูปหงส์ประจำวัดต่าง ๆ (หมายถึงหงสาวดี) นับตั้งแต่นั้นมา นครลำปางตกอยู่ภายใต้อำนาจของพม่าเป็นเวลานานร่วม ๆ 200 ปีเศษ (พ.ศ.2101 - 2317) และบางครั้งก็อยู่ภายใต้การปกครองของกรุงศรีอยุธยาบ้างเช่น สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นต้น

กบฏดุซงญอ (มลายูปัตตานี: ปือแร ดุซงญอ แปลว่า "ดุซงญอลุกขึ้นสู้"หรือ "สงครามดุซงญอ")





กบฏดุซงญอ (มลายูปัตตานี: ปือแร ดุซงญอ แปลว่า "ดุซงญอลุกขึ้นสู้"หรือ "สงครามดุซงญอ") เป็นเหตุการณ์การปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐไทยกับกลุ่มชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู ระหว่าง 25 - 28 เมษายน พ.ศ. 2491 ที่ ตำบลดุซงญอ อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากทั้งสองฝ่าย หลังจากเหตุการณ์ผ่านไป มีการสร้างอนุสาวรีย์ลูกปืนเพื่อรำลึกถีงเหตุการณ์นี้ แต่อนุสาวรีย์นี้ไม่เป็นที่รู้จักมากนัก
เหตุการณ์กบฏนี้ ได้มีผู้กล่าวถึงอย่างกว้างขวางอีกครั้ง เมื่อเกิดเหตุการณ์ กรณีกรือเซะ 2547 ในวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2547 [1]จนมีผู้เสียชีวิต 108 ศพ ซึ่งวันนั้นเป็นวันครบรอบ 56 ปี เหตุการณ์กบฏดุซงญอ

การก่อตัว

จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีขณะเกิดเหตุการณ์
ความไม่พอใจรัฐบาลไทยของชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูเริ่มขึ้นจากการยกเลิกระบบสุลต่านหรือเจ้าผู้ครองนครมาเป็นระบบมณฑลเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 5 และทวีความรุนแรงขึ้นในสมัยปฏิวัติวัฒนธรรมที่ จอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี รวมทั้งความอดอยากในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ราษฎรที่นับถือศาสนาอิสลามเห็นว่าพวกตนไม่ได้รับการดูแลเท่าเทียมกับราษฎรที่นับถือศาสนาพุทธ นอกจากนี้ยังมีแรงหนุนจากภายนอก โดยอังกฤษสนับสนุน ตนกู มะไฮยิดดิน อับดุลกาเดร์ บุตรของรายาปัตตานีองค์สุดท้ายให้แยกตัวออกจากไทย เพื่อแก้แค้นที่ไทยหันไปร่วมมือกับญี่ปุ่น แกนนำในการต่อต้านรัฐบาลยุคนั้นคือ หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ ซึ่งมีบทบาทในการคัดค้านการตั้งดะโต๊ะยุติธรรม เรียกร้องให้แยกศาลศาสนา และเสนอ คำขอ 7 ข้อต่อรัฐบาล หะยีสุหลงถูกจับด้วยข้อหากบฏเมื่อ 16 มกราคม พ.ศ. 2491 ซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่ราษฎรอย่างกว้างขวาง

[แก้]เหตุการณ์ในพื้นที่

การรวมกลุ่มของชาวไทยเชื้อสายมลายูในยุคนั้นมีอยู่ด้วยกัน 2 สาเหตุ อย่างแรกคือ ไม่พอใจนโยบายรัฐบาลที่รู้สึกว่าเป็นการกดขี่พวกเขา อย่างที่สองคือ รวมตัวกันต่อสู้กับโจรจีนคอมมิวนิสต์มาลายาที่มักข้ามแดนมารังควานชาวไทยกลุ่มนี้เป็นประจำ ซึ่งพวกเขาไม่กล้าขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่รัฐเพราะมีความระแวงกันอยู่เป็นทุนเดิม ความระแวงซึ่งกันและกันนี้เป็นให้เกิดความรุนแรงขึ้นในที่สุด ทั้งโดยความเข้าใจผิดและถูกยุยงจากผู้ไม่หวังดี
ลำดับเหตุการณ์ในพื้นที่เป็นดังต่อไปนี้[2]
  • 24 เมษายน เจ้าหน้าที่รัฐได้รับรายงานว่า หะยีสะแมงฟันนายบุนกี (จีนเข้ารีตอิสลาม) ได้รับบาดเจ็บสาหัส
  • 25 เมษายน ตำรวจและเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองรวม 4 นาย เข้าไปตรวจเหตุการณ์ในหมู่บ้าน ถูกพวกก่อการจลาจลราว 30 คนถือดาบไล่ฟัน จนต้องหนีออกจากหมู่บ้าน
  • 26 เมษายน
    • ตอนเช้า ตำรวจราว 28 นาย นำโดย ร.ต.อ. บุญเลิศ เลิศปรีชา ยกเข้ามาที่ตลาดดุซงญอและส่งตำรวจ 4 นาย คือ สิบตรีสง รุ่งเรือง พลฯสมัคร ประดิษฐ์ สุวรรณภักดี พลฯสมัคร บุญ กล้าหาญ และพลฯสมัคร สมศักดิ์ แหวนสำริด ไปเป็นกองล่อให้ฝ่ายจลาจลแสดงตัว ผลปรากฏว่าฝ่ายจลาจลมีกำลังมากกว่า ฝ่ายตำรวจต้องล่าถอย ตำรวจที่เป็นกองล่อทั้ง 4 นายเสียชีวิตทั้งหมด
    • ตอนค่ำ กำลังตำรวจจากจังหวัดใกล้เคียงคือ จ.ยะลา 20 นาย จ.ปัตตานี 30 นาย อ.สุไหงปาดี 8 นายยกมาสมทบและรวมกำลังกันที่ตำบลกรีซา 1 คืน
  • 27 เมษายน กำลังตำรวจจากจ.สงขลาอีก 20 นาย มาถึง ต.กรีซา เริ่มยกพลเข้าหมู่บ้านดุซงญอ ปะทะกับพวกจลาจล ยิงโต้ตอบกันราว 3 ชั่วโมง ฝ่ายตำรวจจึงล่าถอย ระหว่างถอย พลฯสมัคร วิน ไกรเลิศถูกฝ่ายจลาจลยิงเสียชีวิต
  • 28 เมษายน กำลังตำรวจเข้าโจมตีหมู่บ้านดุซงญออีกครั้ง และปราบปรามฝ่ายจลาจลได้เด็ดขาด
ข้อมูลจากชาวบ้านดุซงญอที่อยู่ในเหตุการณ์เล่าว่า ชาวบ้านส่วนหนึ่งขึ้นไปรวมตัวบนเขาเพื่อประกอบพิธีทางไสยศาสตร์ให้อยู่ยงคงกระพันเพื่อต่อสู้กับโจรจีนคอมมิวนิสต์ ในกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งเป็นคนหนุ่มที่หนีการเกณฑ์ทหาร เพราะเชื่อว่าถ้าเป็นทหารเกณฑ์แล้วต้องถูกบังคับให้ไหว้พระพุทธรูป เจ้าหน้าที่ตำรวจขึ้นไปตามตัวชาวบ้านบนเขาให้ลงมา แต่ชาวบ้านไม่ยอม ขับไล่ตำรวจลงมา ตำรวจจึงรวมกลุ่มกันขึ้นไปยิงชาวบ้านบนเขา ชาวบ้านจึงหนีลงมารวมตัวกันที่สุเหร่าและบ้านของโต๊ะเปรัก ก่อนจะถูกตำรวจยกพลเข้ามาปราบ[3]
อย่างไรก็ตามรายละเอียดของเหตุการณ์แตกต่างกันไปขึ้นกับว่าเป็นเอกสารของฝ่ายใด เอกสารของรัฐบาลไทยกับเอกสารที่เขียนโดยชาวมลายูให้ข้อมูลที่ต่างกันทั้งวันที่เกิดเหตุการณ์และจำนวนชาวบ้านดุซงญอผู้เสียชีวิต แต่จำนวนตำรวจที่เสียชีวิตตลอดเหตุการณ์ ข้อมูลส่วนใหญ่ระบุว่าอยู่ที่ราว 30 คน
สรุปจำนวนผู้เสียชีวิตจากแหล่งต่างๆได้ดังนี้[4]
แหล่งอ้างอิงวันที่เกิดเหตุการณ์จำนวนผู้เสียชีวิตรายละเอียด
ปิยนาถ, 253426 - 27 เม.ย.> 100 คนชาวไทยมุสลิมเข้าโจมตีสถานีตำรวจ เกิดการต่อสู้ 2 วัน
อิมรอน, 253825 26 เม.ย.30-100 คนชาวไทยมุสลิมเข้าโจมตีสถานีตำรวจ โดยตำรวจเป็นฝ่ายยิงก่อน
อิบรอฮิม, 254128 เม.ย.ชาวบ้าน 400 คน ตำรวจ 30 คน-
Malek, 199326 เม.ย.ชาวบ้าน 400 - 600 คน ตำรวจ 30 คนกำลังตำรวจ 3 กองร้อยเข้ากวาดล้างชาวบ้านที่ไม่มีอาวุธ มีเครื่องบินรบ 3 ลำ บินหาเป้าหมายในหมู่บ้าน
Syed Serajul Islam, 1998 ?ชาวบ้าน 1,100 คน-
อัฮหมัดสมบูรณ์, 254328 เม.ย.ชาวบ้าน 400 คน ตำรวจ 30 คนการปราบปรามเกิดขึ้นขณะชาวบ้านกำลังละหมาดซุบฮิของวันที่ 28 เม.ย.
Mahmad, 199925-28 เม.ย.ชาวบ้าน 400 คน ตำรวจ 30 คนรัฐบาลส่งเครื่องบินรบเรือรบเตรียมเข้ากวาดล้าง ในวันที่ 27 เม.ย. ก่อนส่งกำลังตำรวจเข้ากวาดล้างเมื่อ 28 เม.ย.
วรมัย, 2547[5]25-28 เม.ย.ชาวบ้าน 30 คน ตำรวจ 5 คนดูข้างบน

[แก้]ปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์

[แก้]ปฏิกิริยาของฝ่ายรัฐบาล

จอมพล ป. ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อสอบสวนหาสาเหตุโดยมีพระยาอมรฤทธิธำรง (พร้อม ณ ถลาง) เป็นประธานกรรมการและ พ.ต.ท. เผ่า ศรียานนท์เป็นรองประธาน ระหว่างการสอบสวน ทางจ.นราธิวาสส่งโทรเลขเข้ามาขอกำลังทหาร ทางรัฐบาลตัดสินใจส่งเรือรบ 3 ลำที่ซ้อมรบในบริเวณนั้น และเครื่องบิน 1 ฝูง เข้าไป แต่เหตุการณ์สงบลงเสียก่อน
คณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งได้ลงไปสำรวจบริเวณที่เกิดเหตุ ผลการสอบสวนของคณะกรรมการ แจ้งว่าการจลาจลเกิดจากความเข้าใจผิด ราษฎรมาชุมนุมกันมากเพื่อเข้าร่วมพิธีทางไสยศาสตร์ จนเป็นที่ผิดสังเกตของตำรวจ จึงขอเข้าตรวจค้น ชาวบ้านไม่ยอมจึงเกิดการปะทะกัน [6] เนื่องจากพบว่าคนในพื้นที่ไม่พอใจมาก นายอับดุลลา หวังปูเต๊ะ เสนอให้เชิญตนกู มะไฮยิดดินเข้ามาปรึกษาในกรุงเทพฯ แต่รัฐบาลไม่ได้ทำตาม [7]

[แก้]ปฏิกิริยาของคนในพื้นที่

ผลจากการปราบปรามครั้งนี้ฝ่ายชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูในพื้นที่ไม่พอใจการกระทำของรัฐมาก ดังที่เขียนไว้ในงานเขียนของอิมรอนว่า [8]
Cquote1.svg
...ถ้าข้าราชการเป็นผู้ฉลาดและมีสติปัญญาแล้ว ย่อมไม่เกิดจลาจลขึ้นแน่นอน ทั้งนี้เพราะนายและพรรคพวกโง่บัดซบและมีใจอำมหิต จึงกระทำต่อชาวมลายูเช่นนั้น...
Cquote2.svg
ผลของการจลาจลทำให้ชาวไทยมุสลิมประมาณ 2,000 - 4,000 คนอพยพเข้าไปในสหพันธรัฐมลายู (ประเทศมาเลเซียปัจจุบัน) ความตึงเครียดในพื้นที่ ทำให้รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อปราบคอมมิวนิสต์
การอพยพของคนไทยเข้าสู่มาลายายังเกิดอย่างต่อเนื่อง ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2491 นายกรัฐมนตรีกล่าวปราศัยผ่านทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยชักชวนให้ชาวไทยมุสลิมกลับคืนถิ่นฐาน แต่การลักลอบเข้ามาลายายังเกิดขึ้นอยู่ต่อไป[9]

[แก้]ปฏิกิริยาจากมุสลิมในประเทศ

นายจรูญ สืบแสง ส.ส.ปัตตานี และนายบรรจง ศรีจรูญ ประธานสันนิบาตไทยอิสลาม ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลดูแลและปรับปรุงความเป็นอยู่ของชาวไทยในมุสลิมให้ดีขึ้น ขอให้มีเสรีภาพทางศาสนา วัฒนธรรมและการศึกษา ซึ่งทางรัฐบาลได้รับหลักการไว้พิจารณา[10]

[แก้]ปฏิกิริยาจากสหพันธรัฐมาลายา

เหตุการณ์นี้สร้างความไม่พอใจให้กับชาวมลายูในมาลายามาก โดยมีสมาคมที่โกตาบาห์รูส่งสาส์นมายังรัฐบาลไทยให้มีการแก้ไขปัญหาสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างสันติ และขอให้ปล่อยตัว หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ ที่ถูกจับในข้อหากบฏ ซึ่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นรับปากว่าจะดูแลให้ดีที่สุด]
ในขณะนั้นรัฐบาลไทยกับรัฐบาลมาลายามีความร่วมมือกันเพื่อปราบคอมมิวนิสต์ตามแนวชายแดน โดยฝ่ายไทยขอร้องไม่ให้ฝ่ายมาลายาช่วยเหลือกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในไทย ส่วนรัฐบาลมาลายาต้องการให้ไทยร่วมมือกับมาลายาในการปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาที่มีฐานที่มั่นบางส่วนในฝั่งไทย ความร่วมมือนี้ทำให้มีการกวดขันและลาดตระเวนตามแนวชายแดนมากขึ้น
การประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อปราบคอมมิวนิสต์ในไทยทำให้หนังสือพิมพ์มาลายาโจมตีว่ารัฐบาลไทยหาโอกาสจะฆ่าชาวไทยมุสลิมที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐบาล ทำให้รัฐบาลไทยต้องออกมาแถลงข่าวว่า จะมีการปฏิรูปอย่างกว้างขวางในสี่จังหวัดภาคใต้ โดยยึดถือตามรายงานของคณะกรรมการที่ลงพื้นที่ นำโดยนายอับดุลลา หวังปูเต๊ะ [12]


อนุสาวรีย์ลูกปืน

อนุสาวรีย์ลูกปืนเป็นอนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์กบฏดุซงญอแต่ไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก ตั้งอยู่ภายในบริเวณสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส สร้างเป็นรูปลูกกระสุนปืน ตั้งอยู่บนฐานทรงกลม 3 ชั้น สูง 36, 30, และ 30 เซนติเมตรตามลำดับจากล่างขึ้นบน ตัวกระสุนปืนมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 34 เซนติเมตร ส่วนปลอกกระสุนสูง 150 เซนติเมตร มีช่องสี่เหลี่ยมในส่วนใกล้หัวกระสุนซึ่งสูง 25 เซนติเมตร รวมความสูงของกระสุนปืน 245 เซนติเมตร กล่าวกันว่ามีการบรรจุกระดูกของตำรวจที่เสียชีวิตในเหตุการณ์กบฏดุซงญอไว้ภายใน 
กบฏดุซงญอ การเมืองในประวัติศาสตร์
ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ - ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ประวัติศาสตร์ในการเมือง
การอุบัติขึ้นของเหตุการณ์รุนแรงในเวลาเช้ามืดของวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๗ กลุ่มมุสลิมกล้าตายบุกเข้าโจมตีสถานีตำรวจ ที่ทำการของรัฐและป้อมยาม 12 จุด ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือปัตตานี ยะลาและสงขลา (น่าสังเกตว่าไม่มีปฏิบัติการในจังหวัดนราธิวาสในเช้าวันนั้น ทั้งๆในอดีตนราธิวาสเป็นจุดของการปะทะขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่รัฐมากสุด) กระทั่งนำไปสู่การยึดมัสยิดกรือเซะ จ.ปัตตานี เป็นฐานที่มั่นสุดท้าย ก่อนถูกกองกำลังทหารและตำรวจและอื่นๆ ที่ลงมาประจำเตรียมรับมือความรุนแรงในพื้นที่เหล่านั้นตอบโต้และปราบปรามด้วยความรุนแรงอย่างเต็มที่
ฝ่ายกลุ่มมุสลิมเสียชีวิตไป ๑๐๗ คน โดยเฉพาะที่มัสยิดกรือเซะตายไป ๓๒ คน อายุเฉลี่ย ๓๐ ปี ในบรรดาผู้เสียชีวิตในจุดอื่น มีกลุ่มเยาวชนที่ยังเป็นนักเรียนระดับมัธยมในอำเภอสะบ้าย้อยถึง ๑๐ คน ที่มัสยิดกรือเซะเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเสียชีวิต ๓ นาย และบาดเจ็บสาหัส ๘ นาย ฝ่ายผู้ก่อการไม่มีผู้บาดเจ็บเลย
ที่น่าสนใจยิ่งคือเหตุการณ์ ๒๘ เมษายนนี้ ทำให้เกิดการรื้อฟื้นความทรงจำในอีกเหตุการณ์หนึ่งขึ้นมาด้วย นั่นคือกรณี "กบฏดุซงญอ" เมื่อวันที่ ๒๖-๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๑ คนที่ช่วยทำให้ความทรงจำนี้กลับคืนมาคืออาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ซึ่งเพิ่งทำการศึกษาวิจัยเรื่อง "ความรุนแรงกับการจัดการ "ความจริง" : ปัตตานีในรอบกึ่งศตวรรษ" (โครงการวิจัยการจัดการความจริงในสังคมไทย สกว. สิงหาคม ๒๕๔๕) โดยมีบทหนึ่งพูดถึง "ความเงียบของอนุสาวรีย์ลูกปืน, ดุซงญอ-นราธิวาส, ๒๔๙๑)1 (1)
นิธิ เอียวศรีวงศ์ระบุว่า "กรณีดุซงญอนั้นเป็น "กบฏชาวนา" ขนานแท้และดั้งเดิมทีเดียว โดยเริ่มจากชาวบ้านฝึกวิชาคงกระพันชาตรีเพื่อต่อสู้กับโจรจีนมลายู ซึ่งเคยปล้นเสบียงอาหารของชุมชนไป แต่เจ้าหน้าที่รัฐระแวงสงสัยและตรวจตราเข้มงวดมากขึ้น ชาวบ้านไม่พอใจจึงเกิดรบราฆ่าฟันกันขึ้น (ดูรายงานของธนวัฒน์ แซ่อุ่น ในมติชน, ๕ พ.ค. ๔๗ ซึ่งแม้รายละเอียดจะแตกต่างจากงานของนักวิชาการ แต่เนื้อหาหลักก็ลงรอยกัน) เพื่อขับไล่อำนาจรัฐมิให้เข้ามาแทรกแซงในชุมชนมากเกินไป หาได้มีเป้าหมายทางการเมืองที่ชัดเจนประการหนึ่งประการใดไม่ " (2)2
ในขณะที่ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ มองกลับไปยังกบฏดุซงญอว่า "…ตามประวัติศาสตร์แล้ว กรณีกบฏดุซงญอเป็นการต่อสู้ระหว่างรัฐไทยกับชาวบ้านมลายูมุสลิมที่ดุซงญอ จ.นราธิวาส และเป็นครั้งที่ใหญ่ที่สุดในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2491 ซึ่งสมัยนั้นมีกรณีความไม่สงบเกิดขึ้นในพื้นที่ และมีการต่อสู้กันแล้ว แต่ยังมีข้อถกเถียงในสรุปตัวเลขคนตาย แต่อย่างน้อยประมาณ 400 คน เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ 40 คน ซึ่งคนไทยรู้จักกันในนามของกบฏดุซงญอ แต่นักประวัติศาสตร์มลายูมุสลิม หรือมาเลเซียเรียกว่า เคบังอีตัน แปลว่า การลุกขึ้นสู้ " (3)3
ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เหตุการณ์ที่เรียกว่า "กบฏดุซงญอ" ก็มีฐานะและชะตากรรมคล้ายๆ กับบรรดากบฏชาวนาทั้งหลายในอดีตที่ผ่านมา คือเป็นเรื่องราวและประวัติศาสตร์ที่ถูกสร้างและทำให้เป็นความทรงจำของสังคมต่อมาโดยรัฐและอำนาจรัฐสยามไทย เนื้อเรื่องจะดำเนินไปเหมือนๆ กันทำนองนี้ วันดีคืนดีก็มีกลุ่มชาวบ้านผู้หลงผิด พากันจับอาวุธแล้วลุกฮือขึ้นต่อสู้ทำร้ายเจ้าหน้าที่และข้าราชการของรัฐไทย ชาวบ้านพวกนั้นมักเป็น "คนชายขอบ" หรืออีกศัพท์เรียกว่า "คนกลุ่มน้อย" ของรัฐและสังคมไทย ที่น่าสนใจคือในกระบวนการทำให้เป็นประวัติศาสตร์และความทรงจำร่วมของสังคมนั้น คนเหล่านั้นก็จะถูกทำให้กลายเป็น "ผู้หลงผิด" และ เป็น "ผู้ร้าย"ในประวัติศาสตร์ไทยไป
บทความนี้จะศึกษาเหตุการณ์ในอดีตของกรณี "กบฏดุซงญอ" ซึ่งตกอยู่ในสภาพและฐานะของ "ผู้ร้าย" มานับแต่เกิดเหตุการณ์นั้น จนถึงเหตุการณ์ล่าสุดในวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๗ ที่ทำให้เสียงและความทรงจำไปถึงหลักฐานข้อมูลที่เป็นของชาวบ้านดังกล่าว ถูกเปิดเผยออกมาอย่างกว้างขวางมากที่สุดในพื้นที่สาธารณะของสังคม
กบฎดุซงญอ 
"กบฏดุซงญอ" เป็นตัวอย่างอันดีของเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ทั้งหลาย ว่าไม่มีเหตุการณ์ใดที่เกิดและเป็นเรื่องเป็นราวของมันเองโดดๆ หากแต่มันจะต้องเกี่ยวพันผูกโยงกับเหตุการณ์อื่นๆ อีกมากมาย นี่เองที่ทำให้ความหมายคลาสสิคดั้งเดิมของคำว่า "historia" ซึ่งเฮโรโดตัสเป็นผู้ริเริ่มใช้ จึงหมายถึงการสืบสวนหรือเจาะหาเข้าไปถึงเรื่องราวในอดีต นอกจากการจัดการกับหลักฐานข้อมูลหลากหลายแล้ว เวลาที่ผ่านไปก็ทำให้นักประวัติศาสตร์สามารถสร้างและทำความเข้าใจความนึกคิดของอดีตในเหตุการณ์นั้นขึ้นมาได้บ้าง นี่ก็คือสิ่งที่เรียกว่า "บริบท" ซึ่งเป็นเงื่อนไขจำเป็นหนึ่งในการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์
ในด้านของการนำเสนอ ถ้าจะใช้ศัพท์แบบการเขียนนิยาย ก็คือในแต่ละเหตุการณ์จะมีพล๊อตเรื่อง มีทั้งพล๊อตเรื่องหลักและรอง การจะเข้าใจเหตุการณ์นั้นๆ จำเป็นจะต้องรู้ถึงพล๊อตเรื่องทั้งหมดด้วย จึงจะทำให้สามารถวินิจฉัยเรื่องราวนั้นๆ ได้อย่างใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด และจึงจะบรรลุการเกิดความเข้าใจในเหตุการณ์ดังกล่าวได้อย่างดีมากที่สุดด้วย
ท้องเรื่องใหญ่ของกรณี "กบฏดุซงญอ" นั้นอยู่ในเรื่องการเคลื่อนไหวเรียกร้องและต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและสิทธิของประชาชนชาวมลายูมุสลิมใน ๔ จังหวัดภาคใต้สุด อันได้แก่ ปัตตานี, นราธิวาส, ยะลา(ในอดีตคืออาณาจักรปตานี) และสตูล ซึ่งดำเนินมายาวนาน แต่ในพล๊อตเรื่องนี้ เราจะจำกัดเพียงแค่การเคลื่อนไหวของประชาชนมลายูมุสลิมในปัญหาการเมืองการปกครองในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม
- ครั้งแรก ผ่านสงครามโลกครั้งที่ ๒ ถึงรัฐบาลยุคเสรีไทยหลังสงครามโลก กรณีรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ แล้วมาจบลงในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม

- ครั้งที่สอง กินเวลาระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ถึง ๒๔๙๑ ราวสิบปีหรือหนึ่งทศวรรษ
เนื้อหาสำคัญของเรื่องราวในตอนนั้น ไม่ยุ่งยากและลำบากต่อการเข้าใจมากนัก หากไม่เอาอคติและอัตวิสัยไปจับเสียก่อน ที่สำคัญคือความรู้สึกและความเชื่อในลัทธิชาตินิยมไทย ซึ่งขณะนั้นก็อยู่ในช่วงเวลาที่กำลังก่อรูปและสร้างฐานรากในสังคมและความคิดของสังคมไทยอยู่ ยังไม่ได้เป็นวิธีคิดและรับรู้ที่คนไทยทั่วไปรับมาเหมือนกันหมดดังเช่นปัจจุบัน หากพิจารณาจากพล๊อตเรื่องหลักแล้ว กรณี"กบฏดุซงญอ" จะเป็นพล๊อตเรื่องรอง ในเรื่องหลักนั้นจะได้แก่เหตุการณ์ที่เรียกว่า "กบฏหะยีสุหลง"
การเมืองกับประวัติศาสตร์
ฮัจญีสุหลงคือผู้นำประชาชนมุสลิมภาคใต้ที่มีชื่อเสียง และเป็นผู้ที่คนมุสลิมภาคใต้เคารพนับถือมากในสมัยนั้น ทั้งยังเป็นผู้นำมุสลิมรุ่นใหม่ มีการศึกษาสูงสำเร็จจากเมืองมักกะฮ์ จากนั้นกลับมาฟื้นฟูการศึกษาอิสลามในปัตตานีและจังหวัดใกล้เคียง จนกระทั่งเข้าสู่ขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของคนมุสลิม
ปัญหาที่มีผลกระทบต่อชนมุสลิมในช่วงรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม
ปัญหาใหญ่ที่มีผลกระทบชีวิตและชุมชนมุสลิมได้แก่ช่วงเวลาที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามครั้งแรก ประกาศนโยบายรัฐนิยม เพื่อสร้างชาติไทยให้เข้มแข็งและเป็นอารยธรรมเยี่ยงมหาอำนาจของโลก จะได้ไม่ตกเป็นเมืองขึ้น ผลก็คือการที่รัฐต้องเข้ามาบังคับและควบคุมการประพฤติปฏิบัติในชีวิตของพลเมืองตามวิสัยทัศน์ของรัฐ เช่นเดียวกับนโยบายชาตินิยมที่อื่นๆ รัฐมักขุดและรื้อฟื้นความเก่าแก่ยิ่งใหญ่ของอดีตแต่กำเนิดของตนเอง (ซึ่งมักเป็นนิทานที่ไม่มีความเป็นจริงมากนัก) เพื่อเอามากล่อมเกลาและปลุกระดมคนในชาติให้เชื่อและตายในอุดมการณ์ใหญ่เดียวกัน
ในกรณีนโยบายรัฐนิยม รัฐบาลพิบูลได้สร้างผีตัวใหม่ขึ้นมา นั่นคือ(เชื้อ)ชาตินิยมไทย แล้วบังคับให้ทุกคนในเมืองไทยปฏิบัติและแสดงออกให้พร้อมเพรียงกัน จะได้เป็น "วีรธรรม" ของชาติ. ในขณะนั้น กล่าวได้ว่าด้านหลักของปัญหาความขัดแย้งนี้ได้แก่นโยบายและการปฏิบัติด้านลบของรัฐไทยที่ได้กระทำต่อชุมชนและคนมุสลิมภาคใต้ ซึ่งก็เป็นมูลเหตุหนึ่งที่นำไปสู่การเรียกร้องความเป็นตัวของตัวเองในทางการปกครองด้วย
สมัยนั้นศัพท์การเมืองว่า "แบ่งแยกดินแดน" ยังไม่เกิด ในช่วงปี ๒๔๘๒-๒๔๙๐ ความไม่พอใจของชาวมุสลิมมาจากนโยบายสร้างชาติภายใต้รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามมีอยู่อย่างมาก หัวใจของปัญหาอยู่ที่ลัทธิชาตินิยมไทย ที่รัฐบาลปลุกระดมให้คนทั้งชาติต้องทำตัวให้เป็นไทย จึงจะถือว่ารักชาติ ตอนนั้นมีกฎหมายออกมาอย่างเป็นรูปธรรมว่า จะต้องปฏิบัติตนอย่างไร เรียกว่า ประกาศ "รัฐนิยม" ให้ใช้ทั่วประเทศตั้งแต่มิถุนายน ๒๔๘๒ - มกราคม ๒๔๘๕ รวม๑๒ ฉบับ ตั้งแต่การเรียกชื่อประเทศ, สัญชาติ, การเคารพธงชาติ, เพลงชาติและเพลงสรรเสริญพระบารมี, ไปถึงภาษา, การแต่งกาย, จนกระทั่งถึงการทำกิจประจำวันเป็นต้น
ผลก็คือคนมุสลิมถูกห้ามไม่ให้สวมหมวกแบบอิสลาม ส่วนผู้หญิงก็ไม่ให้ใช้ผ้าคลุมหัว อันเป็นธรรมเนียมของคนมุสลิม ภาษามลายูก็ห้ามใช้ โสร่งก็ห้ามนุ่งสำหรับผู้ชาย แต่ให้นุ่งกางเกง สวมเสื้อเชิ้ร์ต ที่ตลกคือเครื่องแต่งกายที่เป็นไทยนั้น แท้จริงแล้วเป็นชุดฝรั่งในทศวรรษ ค.ศ. ๑๙๔๐-๕๐ ทั้งสิ้น จากการแต่งกายก็มาถึงการให้เปลี่ยนชื่อที่ไม่เป็นไทยเสีย
ที่หนักหน่วงคือมีการจับและปรับลงโทษผู้ฝ่าฝืนรัฐนิยม จึงมีการวิ่งไล่จับชาวบ้าน ทำร้ายทุบตีดึงตัวมาโรงพัก ผู้หญิงมลายูก็ถูกดึงกระชากผ้าโพกหัวทิ้ง กระทั่ง "ผู้กลับมาจากเมกกะใหม่ๆ ใช้ผ้าสารบันไม่ได้(คือผ้าพันศีรษะ พันไว้นอกหมวกกูเปี๊ยะห์ แสดงให้ทราบว่าเป็นหะยี) ที่นราธิวาส ตำรวจถอดออกจากหัวทำเป็นลูกตะกร้อเตะเสียเลย แล้วจะไม่ให้เจ็บใจได้ยังไง"(4) 4 แม่ค้าที่ขายของในตลาดก็โดนตำรวจตีด้วยพานท้ายปืน เพราะเธอสวมเสื้อกะบายา และมีผ้าคลุมศีรษะ เป็นต้น
กระทั่งศาสนาก็ต้องเป็นศาสนาพุทธอย่างเดียวเท่านั้น ทางการห้ามชาวมลายูเรียนคัมภีร์อัล-กุรอาน ภาษามลายูและภาษาอาหรับ ซึ่งการห้ามดังกล่าวขัดต่อการปฏิบัติกิจทางศาสนาของชาวบ้าน ความไม่พอใจและความตึงเครียดเพิ่มทวีคูณขึ้น เมื่อรัฐบาลจอมพล ป. ประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ และ๖ ว่าด้วยครอบครัวและมรดก แทนที่การใช้กฎหมายอิสลามในสี่จังหวัดภาคใต้มาก่อน ต่อมายังยกเลิกตำแหน่งดะโต๊ะยุติธรรม ที่ตัดสินคดีมรดกและครอบครัวของคนมุสลิมไปด้วย
น่าสนใจว่าการกระทำดังกล่าวนี้ของรัฐบาลไทย ได้ผลักดันให้ชาวมลายูมุสลิมในสี่จังหวัดไม่มีทางออก นอกจากออกไปหาความยุติธรรมในอีกฝั่งของพรมแดนไทย นั่นคือพวกเขาไปให้ศาลศาสนาในรัฐไทรบุรี, ปะลิศ, กลันตัน, และตรังกานู ช่วยตัดสินปัญหาพิพาทในเรื่องดังกล่าวแทน
นั่นคือการผลักดันให้เกิดการ "แยกดินแดน" ขึ้นโดยรัฐไทยเอง
แต่ที่มีนัยอันสำคัญต่อการเคลื่อนไหวของปัตตานีต่อมา คือการนำไปสู่การเลือกตั้ง "กอฏี" หรือผู้พิพากษาคดีครอบครัวและมรดกโดยอิหม่ามหรือผู้ปกครองที่เป็นมุสลิมในเขตจังหวัดปัตตานี เนื่องจากปัตตานีไม่มีพรมแดนติดต่อกับรัฐมุสลิมในมลายา การเดินทางไป-มา กับรัฐมุสลิมในมลายูจึงไม่อาจทำได้เหมือนคนในจังหวัดมุสลิมอื่นๆ คนที่ได้รับเลือกให้เป็น "กอฏี" อย่างเป็นเอกฉันท์คือ ฮัจญีสุหลง เนื่องจากเป็นที่ยกย่องและนับถือมาอย่างล้นหลาม และปัญหาการแต่งตั้งดะโต๊ะยุติธรรมก็เป็นปมเงื่อนใหญ่อันหนึ่งที่ทำให้ฮัจญีสุหลงกลายเป็นหัวหน้าฝ่ายต่อต้านรัฐบาลไป
ข้อสังเกตสุดท้ายที่น่าสนใจไม่น้อยก็คือ ตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๘๖-๒๔๙๐ ไม่ปรากฏว่ามีสำนวนคดีศาสนาในศาลสี่จังหวัดภาคใต้เลย คำถามคือ แปลว่าอะไร ? แปลได้หลายอย่าง แต่อย่างหนึ่งที่เห็นก็คือ แสดงว่าชาวมลายูมุสลิมภาคใต้ได้ประท้วงบอยคอตปฏิเสธอำนาจศาลไทยอย่างเรียบร้อยไปแล้วนั่นเอง โดยไม่ต้องเดินขบวน เรียกร้อง ร้องเรียนไปยังอำนาจรัฐไทยที่ไหน. นัยอีกข้อก็คือแสดงว่าอำนาจศาลไทยไม่อาจบังคับจิตใจของคนมุสลิมได้ ดังนั้นอำนาจอธิปไตยเมื่อพิเคราะห์ให้ถึงที่สุดแล้ว ยังต้องคำนึงถึงความคิดจิตใจที่มีสำนึกของพลเมืองของตนด้วย ไม่เช่นนั้นอำนาจอธิปไตยก็ไร้ความศักดิ์สิทธิ์ไปได้เหมือนกัน เมื่อถึงขั้นนั้นการกล่าวโทษว่าประชาชนไม่เคารพเชื่อฟังอำนาจรัฐก็ไร้ประโยชน์เช่นกัน
ประเด็นใหญ่ของปัญหาสำหรับคนมลายูมุสลิมในภาคใต้คือ เรื่องความถูกต้องเป็นธรรมจากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่และข้าราชการ และเรื่องกฎหมายซึ่งเป็นธรรมเนียมที่ชุมชนมุสลิมทุกแห่งในโลกใช้กฎหมายอิสลามในการปฏิบัติ นอกเหนือจากกฎหมายทั่วไปของรัฐและรัฐบาลนั้นๆแล้ว นโยบายการให้ใช้กฎหมายอิสลามในเรื่องครอบครัวและมรดกนั้น เมื่อสยามทำการปฏิรูปการปกครองและรวมศูนย์ทั้งประเทศ ก็อนุโลมให้หัวเมืองภาคใต้ที่เป็นมุสลิมใช้กฎหมายอิสลามดังกล่าวมา จากนั้นมีการตั้งคณะกรรมการสองฝ่ายเพื่อเขียนกฎหมายอิสลามให้เป็นบรรทัดฐาน แต่กินเวลานานมากและไม่เสร็จสมบูรณ์ได้ง่ายๆ จนถึงสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ ๕ และ ๖ ที่สมบูรณ์ทั้งประเทศ อันมีผลทำให้ไปยกเลิกกฎหมายอิสลามในพื้นที่ ๔ จังหวัดภาคใต้ไป
ที่ควรตั้งข้อสังเกตในที่นี้ เพื่อต้องการชี้ให้เห็นปมเงื่อนปัญหาและความขัดแย้งขณะนั้นคือ แท้จริงแล้วไม่ใช่ปัญหาเรื่องศาสนาและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน หากที่หนักหน่วงและมีผลกระทบด้านลบอย่างมากและยาวไกลด้วย คือปัญหาการใช้และสร้างความเป็นธรรม และความยุติธรรมต่อประชาชนชาวมุสลิมเหล่านั้นมากกว่า นั่นคือปัญหาทาง"การเมืองและการปกครองจากรัฐไทย" ไม่ใช่ปัญหาศาสนาและโรงเรียน ไปถึงปอเนาะอะไรแต่อย่างใด ข้อสังเกตนี้คิดว่าปัจจุบันยังคงใช้ได้อยู่
ขอสรุปเรื่องราวให้สั้นลง กลุ่มมุสลิมในปัตตานีจึงมีการเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยในปัญหาความเดือดร้อนจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ นำไปสู่การเจรจาและต่อรองกับผู้แทนรัฐบาลไทย จนเกิดสิ่งที่เรียกว่า "ข้อเรียกร้อง ๗ ประการ" เรื่องนี้สำคัญมากต่อพล๊อตเรื่องใหญ่ เพราะมันจะกลายมาเป็นหลักฐานเอกในการกล่าวหาและทำให้ผู้นำมุสลิมกลายเป็น "ผู้ร้าย" ไปอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง
พล๊อตเรื่องใหญ่นี้จบลงด้วยการที่ฮัจญีสุหลงถูกจับกุม ในข้อหามีการกระทำอันเป็นกบฏต่อพระราชอาณาจักรในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๙๑ และก็เป็นจุดเริ่มต้นของพล๊อตเรื่องต่อมาคือกรณี "กบฏดุซงญอ" ซึ่งการปะทะกันและการก่อความไม่สงบระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เกิดจากความเข้าใจเชิงลบของเจ้าหน้าที่รัฐบาล คิดและเชื่อว่าชาวบ้านที่กำลังทำพิธีต้มน้ำมันอยู่ยงคงกระพันนั้นคือ การส้องสุมกันเพื่อก่อการกบฏ จึงเข้าไปทำการจับกุม นำไปสู่การปะทะต่อสู้กันต่อมาอีกหลายสิบชั่วโมง จนถูกสร้างให้กลายเป็นวาทกรรมของการกบฏในมุสลิมภาคใต้ไปอีกหน้าหนึ่ง
รัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ กับจุดเปลี่ยนในปัญหามุสลิมภาคใต้ 
หลังจากศึกษาข้อมูลหลักฐานในเหตุการณ์นั้นแล้ว ผู้เขียนคิดใหม่ว่ากรณี "กบฏดุซงญอ" อาจมองเป็นอีกพล๊อตเรื่องที่ไม่ใช่พล๊อตเรื่องรองของกบฏหะยีสุหลง หากแต่เป็นเรื่องราวของมันเอง เพียงแต่ว่ามีความเชื่อมโยงและใกล้เคียงกันของพื้นที่ เวลา และผู้คน จึงทำให้คนมองว่ากบฏดุซงญอเป็นเหตุการณ์ที่เกิดมาจากกบฏหะยีสุหลง
ที่สำคัญในการเข้าใจกบฏดุซงญอใหม่ คือการเข้าใจถึงบริบทในขณะนั้น อันมีปัจจัยแทรกซ้อนหลายอันที่เกิดขึ้นในการเมืองไทยในช่วงเวลาดังกล่าว ปัจจัยภายนอกที่สำคัญขณะนั้นคือ กรณีรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ (และปัจจัยแทรกซ้อนก่อนหน้านั้นคือ กรณีสวรรคตในปี ๒๔๘๙) ซึ่งผมคิดว่านำไปสู่จุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญยิ่งในปัญหามุสลิมภาคใต้
ก่อนอื่นลองพิจารณาตัวรัฐบาลไทยสมัยนั้นดูว่ามีลำดับและความเป็นมาอย่างไร
- เริ่มต้นด้วยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามครั้งแรก ๒๔๘๑-๘๗
- ตามมาด้วยรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ( ๑) สิงหาคม ๒๔๘๗-สิงหาคม ๒๔๘๘
- ตามมาด้วยรัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช กันยายน ๒๔๘๘-มกราคม ๒๔๘๙
- ตามมาด้วยรัฐบาลควง(๒) มกราคม ๒๔๘๙ -มีนาคม ๒๔๘๙
- ตามมาด้วยรัฐบาลนายปรีดี พนมยงค์ มีนาคม ๒๔๘๙ ถึง สิงหาคม ๒๔๘๙
- ตามมาด้วยรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ สิงหาคม ๒๔๘๙ ถึง ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐
- ตามมาด้วยรัฐบาลควง (๓) พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ถึง กุมภาพันธ์ ๒๔๙๑
- ตามมาด้วยรัฐบาลควง (๔) กุมภาพันธ์ ๒๔๙๑ ถึง เมษายน ๒๔๙๑
- และจบลงที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม(ยุค ๒) เมษายน ๒๔๙๑ ถึง กันยายน ๒๕๐๐
จากการพิจารณาพบว่า มีข้อมูลบางอย่างที่ไม่ตรงกับความรับรู้ทั่วไป เช่น การกล่าวว่ารัฐบาลที่สร้างปัญหากระทบกระเทือนวัฒนธรรมและชีวิตคนมุสลิมมากสุดคือรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ข้อนี้ถูกแต่ต้องตระหนักว่านั่นเป็นรัฐบาลพิบูล(ยุค ๑). ส่วนหะยีสุหลงถูก "อุ้ม" และหายสาบสูญไป ก็ภายใต้รัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงคราม ตรงนี้เป็นรัฐบาลพิบูล (ยุค ๒)
อีกความเชื่อหนึ่งคือ นโยบายรุนแรงต่อมุสลิมภาคใต้เกิดขึ้นเพราะรัฐไทยกำลัง "แข็ง" ตัวขึ้น สมัยจอมพลป.พิบูลสงคราม(๑) อาจแข็งแต่ก็ยังถูกคานและดุลย์ด้วยสภาผู้แทนฯได้ จนต้องออกจากตำแหน่ง, มาในสมัยรัฐบาลพิบูล(๒) ตัวรัฐบาลเองไม่มีความมั่นคงมากเท่าสมัยแรก แต่ที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ ช่วงที่ทำให้เกิดกรณี กบฏหะยีสุหลง" และ "กบฏดุซงญอ" นั้นคือระยะของรัฐบาลควงที่ไม่แข็งแรงและไม่มั่นคง ไม่มีเสถียรภาพอะไรทั้งสิ้น
รัฐบาลภายใต้การนำของนายควง อภัยวงศ์ ซึ่งเข้าและออกด้วยเหตุผลทางการเมืองและการทหารถึง ๔ ครั้งในช่วงเวลาประมาณ ๓ ปีกว่า เป็นช่วงเวลาที่อ่อนไหวและทำให้มีการต่อรองและต่อสู้กันระหว่างกลุ่มการเมืองต่างๆ ทั้งในเมืองหลวงและนอกเมืองหลวงมาก นัยที่ผู้เขียนคิดถึงคือนั่นหมายความว่า ช่วงเวลาดังกล่าวนั้นมีผลกระทบในระยะยาว ต่อการสร้างและกำหนดทิศทางของระบบการเมืองการปกครองของประเทศอย่างสำคัญต่อมาด้วย การทำลายกลุ่มการเมืองในภูมิภาคทั้งในภาคใต้และอีสาน น่าจะมีนัยไม่น้อยต่อการทำให้รัฐบาลกรุงเทพฯ กลายเป็นอำนาจนิยมและตกอยู่ภายใต้กำมือของกองทัพมาโดยตลอด จนถึงการปฏิวัติ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖
กลุ่มการเมืองของชาวมลายูมุสลิมภาคใต้ก็มีบทบาทในการนำเสนอและผลักดัน เพื่อให้ระบบการเมืองของประเทศ ก้าวไปสู่ทิศทางและจุดหมายที่ประชาชนส่วนนั้นเห็นว่าเหมาะสม ถูกต้อง และน่าจะเป็นคุณต่ออนาคตการเมืองและสังคมไทยในระยะยาว, เช่นเดียวกับกลุ่มและผู้นำการเมืองในอีสานด้วยเหมือนกัน ที่ผ่านมาการศึกษาประวัติการเมืองไทย มักดูแต่การเมืองของศูนย์กลาง เช่นการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ก็มีแต่ประวัติและเรื่องราวของผู้นำคณะราษฎรแต่เพียงกลุ่มเดียว
ในที่นี้จึงใคร่เสนอให้เปลี่ยนมุมและแว่นในการวิเคราะห์ และศึกษาประวัติการพัฒนาการเมืองไทยยุคดังกล่าวเสียใหม่ โดยการขยายพื้นที่และกลุ่มคนออกไปสู่ผู้นำนอกเมืองหลวงด้วย ถ้าทำอย่างใหม่นี้ ก็จะได้ภาพที่น่าสนใจยิ่ง นั่นคือการที่ฮัจญีสุหลง, นายเลียง ไชยกาล, นายทองอินทร์ ภูมิพัฒน์, นายเตียง ศิริขันธ์ ก็เติบโตขึ้นมาเป็นผู้นำการเมืองในระดับท้องถิ่นและในระดับประเทศต่อมา โดยร่วมสมัยกับผู้นำการเมืองรุ่นใหม่ที่รวมกันเป็น "คณะราษฎร" ที่มีนายปรีดี พนมยงค์, จอมพลป. พิบูลสงคราม และ ฯลฯ
กลุ่มและคนเหล่านั้นเติบโตขึ้นมา ภายใต้บรรยากาศของกระแสการเมืองโลกและในภูมิภาคที่กำลังเปลี่ยนแปลง หากแต่กลุ่มที่บรรลุความสำเร็จในการยึดอำนาจรัฐและสร้างระบอบปกครองใหม่ขึ้นมาคือคณะราษฎร ส่วนบรรดาผู้นำการเมืองท้องถิ่นก็ดำเนินการเคลื่อนไหวไปตามสภาพท้องถิ่นของตน. คนเหล่านั้นมาเจอกันในเวทีการเมืองระดับชาติ เมื่อระบบประชาธิปไตยก่อรูปขึ้น บรรดาผู้นำการเมืองท้องถิ่นจึงได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในระบบปกครองใหม่นี้ด้วย
ช่วงระยะสงครามโลกครั้งที่ ๒ และการต่อสู้กับกำลังญี่ปุ่นของขบวนการเสรีไทย ดำเนินการต่อสู้เพื่อเอกราชของชาติไทย(ภาคกลาง) ในขณะที่กลุ่มการเมืองอีสานก็หนุนช่วยขบวนการกู้เอกราชของคนลาว, เช่นเดียวกันคนมลายูมุสลิมก็หนุนช่วย และเกิดแรงบันดาลใจเรื่องเอกราชกับขบวนการชาตินิยมมลายูในสหพันธรัฐมลายาด้วย ทั้งหมดนี้เมื่อมองจากภาพรวมและบริบทของการเมืองในภูมิภาคและในทางสากลแล้ว ย่อมเข้าใจได้ว่าการเกิดความคิดชาตินิยมในหมู่คนมลายูมุสลิมภาคใต้เป็นเรื่องปกติวิสัย มิใช่ความคิดและการกระทำที่ "บ่อนทำลายเสถียรภาพและความมั่นคง"ของชาติไทยแต่อย่างใด
ย้อนกลับมาที่รัฐบาลควงอีกครั้ง รัฐบาลควง (๑) อยู่ภายใต้บรรยากาศเสรีไทยและชัยชนะเหนือญี่ปุ่น ฝ่ายจอมพล ป. พิบูลสงครามและกองทัพลดบทบาทลง นโยบายต่อมุสลิมภาคใต้จึงก้าวหน้าและยอมรับการเจรจาต่อรองกับกลุ่มการเมืองมุสลิมได้ จึงได้มีพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พ.ศ. ๒๔๘๘ ออกมา ที่สำคัญคือมีการแต่งตั้งตำแหน่งจุฬาราชมนตรีกลับมาอีกครั้ง หลังจากยุติไปโดยปริยายภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕. จุฬาราชมนตรีคนแรกในสมัยนี้คือนายแช่ม พรหมยงค์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกของคณะราษฎรและเข้าร่วมการเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วย (5)5 และฟื้นฟูตำแหน่งดะโต๊ะยุติธรรม รวมถึงการตั้งองค์กรเพื่อประสานและติดต่อคนมุสลิมทั้งประเทศขึ้นมา คือกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย, กรรมการอิสลามประจำจังหวัด, และกรรมการอิสลามประจำมัสยิดหรือสุเหร่าขึ้นมา
ในขณะที่รัฐบาลควง (๓) อยู่ภายใต้บรรยากาศของคณะรัฐประหารที่นำโดยคณะทหารบก ในขณะที่ฝ่ายเสรีไทยและนายปรีดี พนมยงค์ปีกก้าวหน้าของคณะราษฎรกำลังพ่ายแพ้ พรรคการเมืองอนุรักษ์นิยมเช่นพรรคก้าวหน้า และต่อมายุบเป็นพรรคประชาธิปัตย์กำลังหาทางขึ้นมามีอำนาจ ด้วยการชูเรื่องกรณีสวรรคต ทั้งหมดนั้นทำให้นโยบายต่อมุสลิมและปัญหาภาคใต้ กลายเป็นปฏิกิริยาถอยหลังเข้าคลองไปจากก่อนหน้านี้อย่างสิ้นเชิง
จุดที่สำคัญยิ่งคือ การตัดสินใจเดินนโยบายที่ "แข็ง" และ "แรง" ที่เด็ดขาด แต่ไม่ค่อยมีสติและปัญญาเท่าไรนัก ต่อการเคลื่อนไหวของกลุ่มมุสลิมภาคใต้ภายใต้รัฐบาลควง (๓) ซึ่งมีอายุการทำงานสั้นๆ เพียง ๓ เดือน แต่กลับสร้างผลสะเทือนและปมเงื่อนของปัญหาในภาคใต้ไว้มหาศาล
- ประการแรก คือความล้มเหลวของการเจรจาระหว่างกลุ่มมุสลิมภาคใต้กับรัฐบาล และ
- ประการที่สอง คือการสร้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงต่อปัญหามุสลิมภาคใต้
๘ เดือนก่อนการรัฐประหารพฤศจิกายน ๒๔๙๐ มีการตั้ง คณะกรรมการสอดส่องภาวการณ์ใน ๔ จังหวัดภาคใต้ขึ้น เพื่อสืบสวนและเสนอแนะปรับปรุงสภาพการณ์เลวร้ายต่างๆ ที่กำลังเป็นอยู่ จากการพบปะพูดคุยกัน ได้นำไปสู่การเกิดข้อเสนอ ๗ ข้อของกลุ่มมุสลิมที่มีฮัจญีสุหลงเป็นผู้นำ หลังการรัฐประหาร การเจรจาทำความเข้าใจร่วมกัน ระหว่างกลุ่มมุสลิมภาคใต้กับรัฐบาลค่อยๆ ลดลง แล้วกลายเป็นการเผชิญหน้ากัน
มีเหตุการณ์ที่เพิ่มแรงกดดันให้แก่นโยบายเหยี่ยวของรัฐบาลควง(๓) คือในเดือนธันวาคมปีนั้นเกิดกรณีสังหารตำรวจที่หมู่บ้านบาลูกาสาเมาะ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส โดยกลุ่มโจร. เมื่อตำรวจทราบ จึงได้ส่งกำลังไปยังหมู่บ้าน จับชาวบ้านไปทรมานสอบสวนหาฆาตกร จากนั้นเผาหมู่บ้านเป็นเถ้าถ่านเพราะความแค้น เป็นเหตุให้ชาวบ้าน ๒๙ ครัวเรือนไร้ที่อยู่อาศัย
เหตุการณ์นี้เองทำให้รัฐมนตรีมหาดไทยในรัฐบาลควง(๓) คือพลโท ชิด มั่นศิลป สินาดโยธารักษ์ ซึ่งถือปัญหา ๔ จังหวัดภาคใต้เป็นเรื่องรีบด่วน ๒ เรื่องที่จะต้องจัดการอย่างเด็ดขาด (เรื่องหนึ่งคือปัญหาคอร์รัปชั่น) เพราะ "ได้ระแคะระคายว่า ชาวพื้นเมืองมีความไม่พอใจในการปกครองของรัฐบาลทวีขึ้น ประจวบกับเหตุที่มลายูได้รับเอกราช จึงบังเกิดความตื่นตาตื่นใจตามไปด้วยเป็นธรรมดา และเป็นช่องทางให้ผู้มักใหญ่ใฝ่สูง ฉวยโอกาสหาทางถีบตัวขึ้นเป็นใหญ่ หาสมัครพรรคพวก ก่อหวอดเพื่อจะแบ่งแยกดินแดนออกจากประเทศไทยไปรวมกับรัฐมาเลเซีย หรือไม่ก็จัดเป็นกลุ่ม แยกตัวออกไปเป็นอิสระโดยเอกเทศ นับว่าเป็นเรื่องที่จะรีรออยู่ไม่ได้ จะต้องขจัดปัดเป่าให้สถานการณ์ดีขึ้น ก่อนที่จะทรุดหนักจนเหลือแก้"(6)6
ปมเงื่อนสำคัญในการไปบรรลุเป้าหมายดังกล่าวอยู่ที่ การหาผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีคนใหม่ ที่"มั่นคงจงรักภักดีต่อประเทศ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์….ต้องกล้าหาญ เอาการเอางานเพื่อเสี่ยงภัยต่อการใช้พระเดช….ต้องรู้ภาษามลายูดี ทั้งเป็นที่เชื่อถือของคนพื้นเมือง" หน้าที่เร่งด่วนของผู้ว่าฯคนใหม่นี้คือ "สืบหาตัวการที่คิดแบ่งแยกดินแดน ค้นหาเหตุที่ราษฎรเดือดร้อน…"
ในที่สุดก็ได้ตัวพระยารัตนภักดี (แจ้ง สุวรรณจินดา) อดีตผู้ว่าราชการปัตตานี จากปี ๒๔๗๒- ๗๖ โดยถูกออกจากราชการ เหตุเพราะเปลี่ยนแปลงการปกครอง. ในชั่วระยะเวลาเดือนเดียว พระยารัตนภักดีก็รายงานไปยังรัฐมนตรีมหาดไทย ว่าสืบได้ตัวหัวหน้าผู้คิดก่อการแยกดินแดนแล้ว นั่นคือการจับกุมฮัจญีสุหลงในวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๑(7)7 ซึ่งทำให้เกิดการประท้วงจากชาวมุสลิมภาคใต้มากมาย จนต้องย้ายการพิจารณาคดีไปยังศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวโดยสรุป สถานการณ์ในสี่จังหวัดภาคใต้ในขณะนั้นกำลังคุกรุ่นและร้อนแรงขึ้นทุกวัน สภาพทางเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านยังอยู่ในสภาพหลังสงครามโลก ที่ขาดแคลนและมีตลาดมืด ทำให้สินค้าราคาแพงและหายาก โจรผู้ร้ายก็ชุกชุม รวมถึงโจรที่มาจากฝั่งมลายาด้วย ซึ่งชาวบ้านและทางการเรียกรวมๆ ว่า "โจรจีนคอมมิวนิสต์"(8) 8
ในที่สุดก็มาถึงวันที่เกิดการปะทะกันระหว่างชาวบ้านในหมู่บ้านดุซงญอ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาสกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๔๙๑ ดังรายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์สยามนิกรขณะนั้นดังต่อไปนี้
รายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์สยามนิกร (ฉบับวันพุธที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๑) 
"เกิดจลาจล ต่อสู้ที่นราธิวาส คนสำคัญบิน"
จลาจลมีปืนต่อสู้รถถัง พร้อมด้วยอาวุธทันสมัย. วิทยุกระจายเสียงรอบเช้าวานนี้ ประกาศข่าวรวบรวมหลายกระแสร์ว่า ได้เกิดปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับราษฎรครั้งใหญ่ ในจังหวัดนราธิวาส ข่าวนั้นได้ยังความตื่นเต้นกันทั่วไป จากข่าววิทยุนั้นแสดงให้เห็นว่า ความยุ่งยากในบริเวณ ๔ จังหวัดภาคใต้ได้ปรากฏขึ้นแล้ว ราษฎรกลุ่มหนึ่งในอำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ประมาณ ๑ พันคน ได้ก่อการจลาจลต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในโทรเลขซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองรายงานมายังกระทรวงมหาดไทย ใช้คำว่า "ก่อการขบถ" แต่รัฐมนตรีนายหนึ่งแถลงแก่คนข่าวของเราว่า "บุคคลเหล่านั้นมักใหญ่ใฝ่สูงก่อการจลาจล"
การต่อสู้ระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับราษฎร ๑ พันคนนั้น ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ทานกำลังไม่ไหว เนื่องจากมีอาวุธต่อสู้ทันสมัย เช่น เสตน คาร์ไบน์ ลูกระเบิด แม้แต่กระทั่งปืนต่อสู้รถถังก็ยังมีเช่นเดียวกัน โทรเลขฉบับแรกซึ่งส่งเข้ามายังมหาดไทยเมื่อบ่ายวันที่ ๒๖ เดือนนี้ เพื่อขอให้ส่งกำลังไปช่วยเหลือโดยด่วนนั้น ทราบว่าอธิบดีตำรวจได้เรียกประชุมนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่โดยฉับพลัน เพื่อจัดส่งกำลังไปช่วยเหลือตามที่โทรเลขแจ้งมา.
ภายในวงการรัฐบาล เนื่องจากความยุ่งยากดังกล่าวนี้เป็นปัญหาใหญ่ จำเป็นที่จะต้องส่งรัฐมนตรีไประงับเหตุร้ายนั้นโดยด่วน มหาดไทยจึงเสนอให้จัดส่งตัวแทนของรัฐบาลไปยังท้องที่ๆ เกิดเหตุ โดยมอบให้นายเจ๊ะอับดุลลาห์ หลังปูเจ๊ะ รัฐมนตรีและผู้แทนจังหวัดสตูล พร้อมด้วยสมาชิกสภาซึ่งคุ้นเคยกับชาวอิสลามไประงับเหตุ นายเจ๊ะอับดุลลาห์ เป็นชุดแรกที่รัฐบาลออกไป ถ้าหากเหตุการณ์ยังตึงเครียดอยู่ นายเลียง ไชยกาล รัฐมนตรีช่วยว่าการมหาดไทย จะเดินทางติดตามไปอีกคณะหนึ่ง.
เพื่อให้ทราบถึงสถานการณ์อันแท้จริง ในบริเวณที่เกิดเหตุนั้น มหาดไทยได้โทรเลขเรียกเจ้าหน้าที่ซึ่งเกี่ยวข้องมารายงานด้วยตนเองโดยด่วน เพราะโทรเลขที่รายงานเข้ามาไม่ชัดแจ้งพอที่จะหยั่งรู้ความเป็นจริงได้.
นอกจากเหตุร้ายที่นราธิวาส ก็ปรากฏว่าที่ปัตตานีก็ได้เกิดเช่นเดียวกัน รายงานข่าวที่เข้าสู่กรุงเทพฯ จากตำรวจปัตตานีแจ้งว่า บัดนี้พวกก่อการร้ายทางปักษ์ใต้ กำลังวางแผนการณ์อย่างทะมัดทะแมง ในอันจะก่อให้เกิดความแตกแยกและความเข้าใจผิดกันขึ้นในกลุ่มราษฎรอิสลาม. พวกก่อการร้ายนี้ ขนานนามตนเองว่าโจร "บลูกาซาเมาะ" มี เจ๊ะ ซานิกาจี แว๊ะมาเส็ง และคนอื่นๆอีกหลายคนเป็นหัวหน้า และมีข่าวว่าเจ๊ะ.............ได้ถูกยิงตายก่อนหน้านี้เล็กน้อย โดยได้ยิงต่อสู้กับตำรวจปัตตานีที่ตำบลกระสอ.
โจรเหล่านี้แบ่งเป็น ๕ พวกๆละ ๓๐ คน มีปืนสเตน คาร์ไบน์ ระเบิดมือ และปืนแบบพระราม ๖ แต่ดัดแปลงลำกล้องปืนให้มีคุณภาพดีขึ้น พร้อมกับได้รับการฝึกอบรมให้ก่อวินาศกรรม โดยทำลายที่ทำการรัฐบาล สะพาน สายโทรเลขแถบถนนสายบุรี, ตากใบ, ยีนกอ, ละมาโซ, ตำรวจจับหัวหน้าโจรเหล่านี้ได้คนหนึ่ง ชื่อโต๊ะหยีดูเอลามา หรือโต๊ะลาลอย และนำตัวมาสอบสวน แต่เพื่อป้องกันมิให้เกิดการเสียเลือดเนื้อ โดยได้รับคำเตือนจากสมุนของโต๊ะผู้นี้เป็นจำนวนมาก จึงปล่อยตัวไป ขณะนี้ปรากฏว่าโต๊ะลาลอยซ่อนตัวอยู่ระหว่างกลันตันกับปีนัง
สยามนิกร ฉบับวันเดียวกัน รายงานอีกข่าวดังนี้ 
"นายกสั่งระงับเหตุร้าย รุนแรงให้ทหารปราบ"
รายงานข่าวหลังที่สุดเกี่ยวกับจลาจลในนราธิวาส ซึ่งรัฐบาลได้ส่งตัวแทนรุ่นที่ ๑ ออกไป มีนายเจ๊ะอับดุลลาห์ เป็นหัวหน้านั้น ทราบว่าประกอบไปด้วย พล.ต.ต. หลวงชาติตระการโกศล อธิบดีกรมตำรวจ และพ.อ. เผ่า ศรียานนท์ ซึ่งได้ขึ้นเครื่องบินไปแล้วเมื่อเช้าวันนี้
ตัวแทนชุดที่ ๑ ได้รับคำสั่งจากนายกรัฐมนตรี ให้ไปเจรจา "อย่างละม่อม" กับหัวหน้าของราษฎรซึ่งลุกฮือขึ้นนั้น เพื่อมิให้เสียเลือดเนื้อโดยไม่จำเป็น และถ้าเหตุการณ์ยังคงรุนแรง ก็ให้ตัวแทนชุดนี้ใช้อำนาจทหาร ซึ่งตั้งอยู่ที่คอหงษ์ จังหวัดสงขลาปราบปรามต่อไป
ทหารไปสังเกต 
ด้านกระทรวงกลาโหม ได้ส่งนายทหารชั้นผู้ใหญ่โดยสารเครื่องบินไปสังเกตการณ์ก่อการจลาจล ซึ่งเข้ายึดตันหยงมาส จังหวัดนราธิวาสเหมือนกัน พลโทหลวงสุข ชาตินักรบ รัฐมนตรีกลาโหมได้ตอบข้อความผ่านทาง พ.ต. สนิท ทองภูเบศร ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่า หากพวกเหล่านี้ได้ก่อการจลาจลขึ้น ตามข่าวที่ปรากฏอยู่ในเวลานี้แล้ว ทางกลาโหมก็ถือเป็นหน้าที่ ต้องเข้าช่วยรักษาความปลอดภัยแห่งราชอาณาจักร จะได้สั่งใช้กำลังทหารในกองพลอิสระภาคใต้ เข้าร่วมทำการปราบปรามทันที
ไม่ยึดเมือง
ในด้านกรมมหาดไทย พระยารามราชภักดี อธิบดีชี้แจงโดยได้แสดงความเห็นว่า "คงไม่ถึงยึดเมืองอะไรหรอก เพราะถ้ายึดเมือง ก็ต้องยึดสถานีรถไฟก่อน นี่เป็นการปล้นหมู่บ้านเล็กๆ ที่อยู่ห่างไกลเท่านั้น"
ตึงเครียดมานาน
ก่อนเกิดเหตุใหญ่ สถานการณ์ตึงเครียดมานานแล้ว ด้านนี้ ๖ โมงเย็น ผู้คนไม่กล้าไปไหนมาไหนโดยลำพัง อาหารการกินก็อัตคัดมานาน ในที่สุดเหตุใหญ่จึงระเบิดขึ้น
สยามนิกร ฉบับวันพฤหัสฯที่ ๒๙ เมษายน ๒๔๙๑
จลาจลยึด ๒ หมู่บ้านเป็นป้อม อาจประกาศใช้กฎอัยการศึก
รัฐบาลพิจารณาข้อเรียกร้องรวม ๗ ข้อ ผู้แทนชุด ๒ เตรียมไป เขมชาติว่าถ้าไม่มีต่างประเทศหนุนหลัง เหตุการณ์อาจจะสงบใน ๒ วัน
เหตุร้ายในอำเภอระแงะจังหวัดนราธิวาสเช้าวานนี้ มีรายงานข่าวต่อมาว่า พวกก่อการจลาจลได้ยึดเอาหมู่บ้านจะแนะ กับหมู่บ้านลุงยอตั้งเป็นป้อม เพื่อทำการต่อสู้กับกำลังฝ่ายปราบปรามของรัฐบาล และตั้งข้อเสนอให้รัฐบาลพิจารณาข้อเรียกร้องของอิสลามิกชนในบริเวณ ๔ จังหวัด(ภาคใต้) ๗ ข้อ ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องที่เคยเสนอรัฐบาลมาครั้งหนึ่งแล้ว มีรายงานว่ามหาดไทยได้เสนอให้รัฐบาลพิจารณาข้อเรียกร้องเหล่านั้น และเช้าวานนี้ คณะรัฐมนตรีก็ได้ประชุมเพื่อพิจารณาสถานการณ์อันรุนแรงโดยด่วน
รัฐบาลได้มีการประชุมปรึกษาหารืออย่างเคร่งเครียด รัฐมนตรีช่วยกระทรวงมหาดไทย นายเลียง ไชยกาล ซึ่งมีกำหนดการเดินทางไปวันที่ ๒๗ นั้น ได้ระงับการเดินทางเพื่อฟังข่าวด่วน…(ต้นฉบับไม่ชัดอ่านไม่ออก)…
ขอความร่วมมือ
นายเลียง ไชยกาล ได้เชิญนายสมรรถ เอี่ยมวิโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนนราธิวาส นายจรูญ สืบแสง สส. ปัตตานี มาปรึกษาขอความร่วมมือ ในฐานที่เป็นผู้แทนจังหวัดนั้น และเป็นผู้กว้างขวางในหมู่อิสลาม ๔ จังหวัด ผู้แทนทั้ง ๒ คนนี้ ตอบรับว่าจะให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และจะเดินทางร่วมไปกับคณะของนายเลียง ไชยกาลด้วย พร้อมกันนี้ นายเขมชาติ บุณยรัตพันธ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการมหาดไทย.........................................(คาดเดาจากโปรยหัวข่าว นายเขมชาติกล่าวว่า ว่าถ้าไม่มีต่างประเทศหนุนหลัง เหตุการณ์อาจจะสงบใน ๒ วัน)
หัวหน้าผู้แทนว่าหนักใจ วิตกเหตุการณ์ครั้งนี้ร้ายแรง ว่าถ้าไม่พบมไฮยิดดิน ไม่ได้เรื่อง
"การกดขี่ข่มเหง ซึ่งเจ้าหน้าที่กระทำต่อราษฎรในจังหวัดนราธิวาส เป็นเหตุใหญ่เหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการจลาจลขึ้น" นายสมรรถ เอี่ยมวิโรจน์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส ชี้แจงแก่คนข่าวของเราเมื่อเย็นวันที่ ๒๗ เดือนนี้ "ขอร้องให้ย้ายเจ้าหน้าที่ก็ไม่ยอมย้าย อยู่ดีๆ ก็ยิงทิ้งเสียบ้างเช่นนี้ ความเดือดร้อนจึงบังเกิดขึ้น"
(ต้นฉบับไม่ชัด สรุปใจความได้ว่า นายสมรรถ เอี่ยมวิโรจน์ แสดงความเห็นว่าสาเหตุของการเกิดจลาจลมาจากอะไร และบอกว่านายเจ๊ะอับดุลลาห์ ก่อนขึ้นเครื่องบินไป ก็ยังได้กล่าวกับตนว่า เป็นเหตุการณ์ที่ไม่สู้จะดีนัก รู้สึกวิตกกับเหตุการณ์นี้เป็นอย่างมาก นายสมรรถ ยังกล่าวว่าต้องไปพบมไฮยิดดิน ถ้าไม่พบก็ไม่ได้ความ คือคงไม่อาจแก้สถานการณ์ได้ เขากล่าวต่อไปอีกว่า การส่งนายเจ๊ะอับดุลลาห์ หลังปูเต๊ะไปพบนั้นไม่เหมาะ เพราะความเห็นของบุคคลทั้ง ๒ ไม่ตรงกัน เช่นมไฮยิดดินต้องการความประนีประนอม แต่นายเจ๊ะอับดุลลาห์มีความเห็นตรงกันข้าม ต้องการไม่เกี่ยวข้องด้วย ดังนี้เป็นต้น)
"มันคุกรุ่นมานานแล้ว" 
นายบรรจง ศรีจรูญ ประธานกรรมการกลางอิสลาม กล่าวว่าไม่อยากจะพูดอะไรเกี่ยวกับกรณีการจลาจล เพราะได้พูดมานานแล้ว ว่าไฟมันคุกรุ่นอยู่ ขอให้พิจารณามาหลายรัฐบาลแล้ว ก็ไม่มีรัฐบาลใดหยิบยกมาพิจารณาถึงรากฐานที่แท้จริง มัวเชื่อแต่รายงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองว่าเหตุการณ์สงบไม่มีอะไร
"ผมพูดจนถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวการยุยง เมื่อเกิดเรื่องตึงตังขึ้นมาเช่นนี้ ผมก็มีแต่ความเศร้าสลดใจเท่านั้น"
ประกันหะยีสุหรง
หะยีสุหรงคนสำคัญฝ่ายอิสลามในบริเวณ ๔ จังหวัด ซึ่งถูกจับฐานขบถห้ามเยี่ยมห้ามประกันที่ปัตตานีนั้น ทางรัฐบาลได้โทรเลขให้ทางจังหวัดพิจารณาให้ประกันตัวแล้วตั้งแต่วันที่ ๒๖ เดือนนี้
พลโทหลวงกาจฯ หัวหน้าคณะรัฐประหาร ยอมเอาหัวเป็นประกัน เพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง.
ทางฝ่ายทหารได้แจ้งแก่คนข่าวของสยามนิกรว่า "หากเป็นการเหลือกำลังที่ฝ่ายตำรวจจะปราบปราม ทางทหารก็จะได้ส่งกำลังเข้าช่วยเหลือทันที ทั้งนี้ผู้บัญชาการกองพลอิสระที่คอหงษ์หาดใหญ่ มีอำนาจที่จะสั่งการได้โดยไม่จำเป็นต้องรอคำสั่งจากรัฐมนตรีกลาโหม และถ้าเหตุการณ์รุนแรงถึงกับต้องใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามแล้ว รัฐบาลอาจประกาศใช้กฎอัยการศึกในเขตที่เกิดจลาจลนั้นก็ได้"
สยามนิกร ฉบับวันศุกร์ที่ ๓๐ เมษายน ๒๔๙๑
"ปะทะกันสิ้นชีวิตไป ๓๕ ข่าวสุดท้ายว่าฝ่ายจลาจลใช้มีดไม้"
จลาจลในนราธิวาสได้สงบลงแล้ว ด้วยการเสียชีวิตไปถึง ๓๕ ชีวิต ซึ่งเป็นชีวิตของฝ่ายก่อการจลาจล ๓๐ คน และของฝ่ายปราบปรามอีก ๕ คน ภายหลังการยึดหมู่บ้าน ๒ หมู่คือจะแนะกับลุงยอ เป็นป้อมคูต่อสู้เจ้าพนักงานไม่ถึง ๓๐ ชั่วโมงแล้ว พระยาอมรฤทธิ์ธำรง ข้าหลวงตรวจการมหาดไทยภาค ๕ ก็ได้โทรเลขด่วนมายังมหาดไทยว่า ฝ่ายจลาจลได้แตกพ่ายหนีเข้าป่าไผ่จนหมดสิ้นแล้ว
โทรเลขที่รายงานเข้ามาถึงมหาดไทยเป็นลำดับ ปรากฏว่าเหตุการณ์ต่างๆ ได้เล็กลงทุกที มีรายงานข่าวเปิดเผยว่า วันที่เกิดจลาจลนั้น เหตุการณ์ได้เป็นอย่างรุนแรงมาก อ.ระแงะเป็นอำเภอใหญ่สุดของนราธิวาส ในชั่วโมงที่เกิดเหตุใหญ่ได้เกิดปึงปังไปแทบทุกบ้านของอำเภอ ในวันที่พระยาอมรฤทธิ์ธำรง รายงานข่าวเข้ามายังมหาดไทย ว่าความสงบได้คลุมทั่วนราธิวาสนั้น ได้บอกเข้ามาด้วยว่า อาวุธฝ่ายจลาจลมีเพียงมีด ไม้และอาวุธปืนยาวเท่านั้น ตรงกันข้ามกับวันที่เกิดเหตุใหญ่ ซึ่งรายงานเข้ามาว่ามีทั้งปืนเสตน คาร์ไบน์ และปืนต่อสู้รถถัง ปืนเล็กยาวพระราม ๖ และระเบิดมือเป็นต้น
สยามนิกร ฉบับวันอังคารที่ ๔ พฤษภาคม ๒๔๙๑
"จับจลาจลนราธิวาสได้ ๔๐ ส่งทหารไปอีกข้าราชการตายจะให้ลูกรับบำนาญแทน"
ความไม่สงบในบริเวณ ๗ หัวเมือง ซึ่งได้เริ่มฟักตัวขึ้นเป็นลำดับมา จนกระทั่งเกิดความวุ่นวาย ราษฎรตำบลจะแนะ ในจังหวัดนราธิวาสจับอาวุธขึ้นต่อสู้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ที่ปรากฏข่าวมาเป็นลำดับ
รายงานของ พ.อ. เผ่า ศรียานนท์ ในคณะกรรมการผู้เดินทางไประงับเหตุโดยด่วน ว่าเหตุการณ์ได้สงบลงแล้ว กับได้ขออาวุธไปเพิ่มเติม เพื่อรักษาความสงบต่อไป. พ.อ. เผ่าฯกลับมารายงานนายกรัฐมนตรี ถึงต้นเหตุแห่งความวุ่นวายและข้อคิดเห็นว่า เบื้องแรกราษฎรได้มาประชุมกันเพื่อทำพิธีปลุกเสกลงอาคมของขลังในตำบลจะแนะ ประมาณพันคน พร้อมกันนี้ตามรายงานข่าวอีกด้านหนึ่ง แจ้งว่าได้มีการปลุกใจเพื่อเกิดความฮึกเหิม แล้วลุกฮือขึ้นแข็งสิทธิ์ต่อรัฐบาลไทย
เมื่อทราบถึงคณะกรรมการอำเภอ ปลัดอำเภอพร้อมด้วยตำรวจได้เข้าไปปราบปราม จึงเกิดการต่อสู้กันเป็นครั้งแรก ฝ่ายเจ้าหน้าที่แตกพ่ายมา และได้รายงานไปจังหวัด ทางจังหวัดส่งกำลังตำรวจไปปราบปรามอีก ๑๐๐ คนเศษ ราษฎรในหมู่บ้านจะแนะ ได้ตั้งป้อมขึ้นสู้แข็งขันยิงกันอยู่ ๓ ชั่วโมง กำลังเจ้าหน้าที่ไม่สามารถจะหักเข้าไปได้ ข้าหลวงนราธิวาสจึงรายงานขอกำลังด่วนเข้ามากรุงเทพฯ และในระยะหลังสุดเมื่อคณะกรรมการซึ่งส่งมาจากกรุงเทพฯไปถึง เมื่อฝ่ายปกครองมีท่าทีคึกคัก พร้อมด้วยกำลังพรักพร้อมขึ้น ฝ่ายชาวบ้านก็รามือหยุดยิงลง มีแต่การเคลื่อนไหวครุกรุ่นเป็นการภายในอยู่โดยทั่วๆ ไป
รายงานข่าวหลังสุดจากนราธิวาส เจ้าหน้าที่ได้จับราษฎรในตำบลเกิดเหตุมาทำการสอบสวนที่จังหวัดราว ๔๐ คน ตัวอาจารย์และหัวหน้าที่เป็นต้นเหตุแห่งความไม่สงบ ยังจับไม่ได้ นัยว่าหนีออกไปนอกเขตประเทศไทยแล้ว
วงการใกล้ชิดว่านายกรัฐมนตรีได้สั่ง พ.อ. เผ่า ศรียานนท์ ให้ละมุนละม่อมที่สุด. รายงานผู้เดินทางมาจากสงขลา นอกจากเสียชีวิตแล้ว ตำรวจยังบาดเจ็บมากกว่า ๓๐ คนอีกด้วย และได้มีการลำเลียงทหารไปยังนราธิวาสก่อนรถด่วนจะมากรุงเทพฯ
สยามนิกร ฉบับวันอาทิตย์ที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๔๙๑
"มไฮยิดดินวอนสาวกขอให้เลิกจลาจล" ขอให้ตั้งมั่นสงบ อย่าละเมิดสันติ
สิงคโปร์: ได้ทราบข่าวว่าเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ซึ่งเป็นวันเกิดจลาจลในจังหวัดนราธิวาส เจ๊ะมไฮยิดดิน ได้ส่งคำวิงวอนถึงผู้เป็นสาวกของเขาในภาคใต้ของประเทศไทย ดังมีข้อความแปลต่อไปนี้:
"ข้าพเจ้ารู้สึกเศร้าสลดเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ทราบข่าวว่ามีชาวมลายูหมู่หนึ่งทำการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าการกระทำเช่นนั้น มิได้เป็นไปตามความปรารถนา หรือโดยการริเริ่มของราอายัต การกระทำเช่นนี้ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทั้งสองฝ่าย และไม่เป็นการกระทำที่ชอบ ด้วยแนวความคิดในปัจจุบันนี้ ถ้าหากจะมีความเดือดร้อนหรือความไม่พอใจอย่างใดเกิดขึ้น ก็ควรที่จะได้ยื่นเรื่องราวตามแบบแผนของระเบียบ และวิธีการของกฎหมายและโดยสันติวิธี ดังนั้นข้าพเจ้าจึงขอร้องต่อท่านทั้งหลาย ให้งดการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด อันอาจจะนำไปสู่ความไม่สงบ และละเมิดต่อสันติภาพในบ้านเมืองอันเป็นที่อยู่ของท่านเอง"
(สกอ.)
อพยพออกจาก ๔ จังหวัด เกือบถึง ๑ หมื่นแล้ว รัฐบาลหาทางดึงคนเหล่านั้นกลับ
ชาวอิสลามอพยพออกไปจากดินแดน ๔ จังหวัดภาคใต้เกือบถึง ๑ หมื่นคนแล้ว ตัวเลขอันน่าสนใจนี้ นายเจ๊ะอับดุลลาห์ หลังปูเต๊ะ รัฐมนตรีปัจจุบัน ได้รายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบ หลังจากที่ระงับการจลาจลในนราธิวาสแล้ว นายเจ๊ะอับดุลลาห์ หลังปูเต๊ะได้เสนอต่อนายกรัฐมนตรีว่า เป็นการสมควรที่จะเลือกทางใดทางหนึ่ง กล่าวคือจะเลือกเอาในทางที่แผ่นดินไม่มีคนอยู่หรืออย่างไร ในข้อนี้นายกรัฐมนตรีเลือกเอาทางที่แผ่นดินไม่มีคนอยู่ไม่ได้ รัฐบาลรับจะพิจารณาหาทางแก้ไขเพื่อให้อพยพกลับคืนภูมิลำเนาเดิม
ผู้ที่อพยพไปนี้ ไปกันเป็นรุ่นๆ เพราะมีสมาคมอุปการะที่นั่น ครูสอนศาสนาและผู้ที่ราษฎรเคารพนับถือ อพยพออกไปราว ๖๗ คน ราษฎรทั่วไปกว่า ๑๕๐๐ คน พวกที่ออกไปก่อนเป็นคราวๆ ซึ่งไปอยู่กันมากที่กลันตัน, ไทรบุรี, เประ, มากที่สุดตำบลกุเรา รวมราว ๖๐๐๐ คน
บทวิเคราะห์ 
จากรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์สยามนิกรในเวลานั้น ซึ่งให้รายละเอียดของเหตุการณ์และการปฏิบัติการของฝ่ายรัฐบาลอย่างมากสุดนั้น พอจะสรุปตั้งข้อสังเกตและวิเคราะห์เหตุการณ์ "กบฏดุซงญอ" ได้ดังนี้
๑) ความคลาดเคลื่อนของข้อเท็จจริง
รายงานข่าวการ "ก่อการขบถ" ของชาวบ้านนับพันคน ดังที่เจ้าหน้าที่มหาดไทยท้องถิ่นรายงานเข้ากระทรวงฯนั้นเห็นชัดเจนว่า เป็นการข่าวที่คลาดเคลื่อน จะเรียกว่า "บิดเบือน" ก็อาจหนักไป เพราะหากเกิดการปะทะกันขึ้น กำลังเป็นสิบหรือหลายสิบ ก็น่ากลัวพอที่จะทำให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นรีบประเมินความหนักหน่วงน่ากลัวของสถานการณ์ให้เบื้องบนทราบ
ต่อเนื่องจากการให้ตัวเลข ขนาด จำนวน ประเภท ของอาวุธที่ชาวบ้านใช้ ซึ่งล้วนเป็นอาวุธหนักและใช้ในการสงคราม เช่น คาร์ไบน์ ปืนต่อสู้รถถัง ปลยบ.๖๖ ระเบิดมือ สเตน เป็นต้น แสดงว่าทางการได้มีสมมติฐานอยู่ในใจก่อนแล้ว ว่าชาวบ้านมุสลิมภาคใต้กำลังคิดกระทำอะไรอยู่ หากไปอ่านความในใจของรัฐมนตรีมหาดไทยสมัยนั้น เช่นพลโท ชิด มั่นศิล สินาดโยธารักษ์ และผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีพระยารัตนภักดี ก็จะไม่แปลกใจว่าทำไม ทางการถึงประเมินและเชื่อว่าชาวบ้านมีอาวุธหนักขนาดทำสงครามไว้ในครอบครอง
เพราะเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลมีข่าวกรองอยู่ก่อนแล้ว ประกอบเข้ากับอคติและความไม่ชอบในการเคลื่อนไหวเรียกร้องของกลุ่มมุสลิมหัวก้าวหน้าด้วย ทำให้หนทางและวิธีการในการคลี่คลายปัญหาและความตึงเครียดขณะนั้นโดยสันติวิธีและ "ละมุนละม่อม" ตามที่จอมพลป. พิบูลสงครามสั่งตามไปในวันหลังๆ เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากมาก
ถ้าจะฟันธงจากบทเรียนในประวัติศาสตร์ดังกล่าว ก็คือการใช้ความรุนแรงในภาคใต้นั้น เป็นผลโดยตรงจากการมีทัศนคติ อคติ ความเชื่อในอุดมการณ์การเมืองของชาติที่ไม่สอดคล้องกระทั่งขัดแย้งกับความเป็นจริงของสังคมมุสลิมภาคใต้ ทั้งหมดทำให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลพร้อมที่จะใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ (ทั้งในโครงสร้างและนอกเหนือกฎหมายหลากหลายสารพัด)
๒) การสร้างทัศนคติที่มองชาวมลายูมุสลิมว่าเป็นคน "ต่างชาติ" 
พร้อมๆ กับก่อรูปขึ้นของความคิดว่าด้วยชาติไทยและความเป็นไทย ที่วางอยู่บนเชื้อชาติและศาสนา อันได้แก่ พุทธศาสนาเป็นหลักนั้น คนชนชาติและเชื้อชาติอื่นๆ ก็ถูกทำให้กลายเป็น "คนต่างชาติ" หรือคนต่างด้าวไปทันที ลูกหลานคนจีนที่ไม่มีชื่อนามสกุลแบบไทย ต่างพากันเปลี่ยนและตั้งชื่อและนามสกุลที่เป็นไทยกันจ้าละหวั่น
การยอมถูกทำให้ผสมกลมกลืนแบบนี้ไม่อาจเกิดขึ้นในบริเวณสี่จังหวัดมุสลิมภาคใต้ได้ เพราะในดินแดนนั้นคนเชื้อสายมลายูเป็นคนส่วนใหญ่ เป็นคนเจ้าของที่มานานกว่าคนในภาคกลางและกรุงเทพฯจำนวนมากเสียด้วย นั่นเองนำไปสู่การปะทะและความรุนแรงในสมัยรัฐนิยมของจอมพลป. พิบูลสงคราม และเมื่อได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชของคนมลายา ฝ่ายรัฐไทยก็เริ่มสร้างวาทกรรมเรื่อง "การแบ่งแยกดินแดน" ขึ้นมา เพื่อเป็นความชอบธรรมในการจัดการและปราบปรามคนเหล่านั้นในที่สุด
๓) การสร้างความชอบธรรมในการใช้กำลังต่อผู้นำฝ่ายปรปักษ์ 
ประเพณีการเมืองสยามโบราณ การขึ้นมามีอำนาจรัฐของกษัตริย์หรือเชื้อพระวงศ์ อ้างบุญญาภินิหาร อันนำไปสู่การมีและใช้อำนาจเด็ดขาด จากนั้นไปก็ต้องใช้อำนาจอย่างเด็ดขาดในการปกครองและจัดการ โดยเฉพาะในการกำจัดและปราบปรามผู้ที่เป็นฝ่ายตรงข้าม โดยอ้างว่าจะขึ้นมาแย่งบัลลังก์
การยึดอำนาจโดยคณะปฏิวัติในปี ๒๔๙๐ ก็นำเอาขนบการเมืองโบราณกลับมาใช้อย่างเป็นล่ำเป็นสันอีกวาระหนึ่ง แต่คราวนี้ ขยายการกำจัดปราบปรามไปยังผู้นำและหัวหน้ากลุ่มการเมืองในภูมิภาค เพื่อทำให้รัฐบาลมีความชอบธรรมในการปราบด้วยอำนาจเด็ดขาด จำเป็นจะต้องหาหรือทำให้มีหัวหน้าฝ่ายตรงข้ามที่เป็นกบฏให้ได้ก่อน ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่ได้ยินข้อความทำนองนี้จากปากของหัวหน้ารัฐบาลและหัวหน้าฝ่ายปราบปรามว่า ความวุ่นวายในภาคใต้นั้นมาจาก"ผู้มักใหญ่ใฝ่สูง ฉวยโอกาสหาทางถีบตัวขึ้นเป็นใหญ่"
ในกรณีกบฏดุซงญอนั้น วาทกรรมไทยถึงปัจจุบันยังระบุว่าตนกูมะไฮยิดดินเป็นหัวหน้า หรือผู้ยุยงให้เกิดความรุนแรงขึ้น เขาเป็นบุตรคนสุดท้องของตนกูอับดุลกาเดร์, รายาแห่งปัตตานีองค์สุดท้ายก่อนถูกสยามปฏิรูปและจับกุมข้อหากบฏเหมือนกัน แต่เป็นครั้งแรกที่ผู้เขียนพบข้อมูลใหม่ใน สยามนิกร(๑๖ พฤษภาคม ๒๔๙๑) ที่รายงานว่า ตนกูมะไฮยิดดินได้ส่งสารถึงชาวมุสลิมทั้งหลายในภาคใต้ให้ระงับความรุนแรง เขายืนยันว่า "ถ้าหากจะมีความเดือดร้อนหรือความไม่พอใจอย่างใดเกิดขึ้น ก็ควรที่จะได้ยื่นเรื่องราวตามแบบแผนของระเบียบ และวิธีการของกฎหมายและโดยสันติวิธี ดังนั้นข้าพเจ้าจึงขอร้องต่อท่านทั้งหลาย ให้งดการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด อันอาจจะนำไปสู่ความไม่สงบและละเมิดต่อสันติภาพในบ้านเมืองอันเป็นที่อยู่ของท่านเอง"
หากข้อความในสารดังกล่าวเป็นของมะไฮยิดดินจริง หมายความว่าเขาย่อมไม่ใช่ผู้อยู่เบื้องหลังการลุกฮือปะทะกันระหว่างคนมุสลิมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ จากข้อมูลหลายกระแสในปัจจุบันนี้ ทำให้เราสามารถประเมินได้ว่า กบฏดุซงญอนั้น ไม่ใช่เป็นฝีมือและการบงการของใครทั้งสิ้น ไม่ใช่ฮัจญีสุหลงด้วย หากแต่เป็นการปะทะที่เกิดขึ้นเองในบริบทดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว จึงเป็นไปได้ว่าในขณะนั้น มะไฮยิดดินและผู้นำมุสลิมอื่นๆ ก็คงงุนงงสงสัยเหมือนกันว่า ใครและอะไรเป็นมูลเหตุของการปะทะกันอย่างราวกับเป็นสงครามกลางเมืองในหมู่บ้านนั้น
เป็นไปได้ไหมว่า คำอธิบายทำนองเดียวกันนี้ อาจนำไปใช้อธิบายกรณี ๒๘ เมษายน ๒๔๕๗ ได้อีกเหมือนกัน โดยที่รายละเอียดและเชื้อเพลิงของการปะทะกันนั้น อาจต่างกันไปตามสภาพแวดล้อมและการเมืองในภูมิภาค
แต่ที่ยังคงเหมือนกันอยู่คือ ท่าทีและทรรศนะคติไปถึงวิธีการในการจัดการปัญหาของรัฐไทยที่ยังเหมือนเดิม ที่ไม่ยอมให้ปัญหามุสลิมภาคใต้เป็นปัญหา "การเมือง" เพราะกลัวนัยของการเมืองในบริเวณนั้น แต่ยืนยันทำให้ปัญหาและวิธีการแก้เป็นเพียงเรื่องของ "การทหาร" และความรุนแรงเด็ดขาดแต่ด้านเดียว
++++++++++++++++++++++++++++++
เชิงอรรถ
(1) บทวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสาร ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๒๕ ฉบับที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ หน้า ๑๓๒-๑๕๔.

(2) นิธิ เอียวศรีวงศ์ "มองสถานการณ์ภาคใต้ผ่านแว่นกบฏชาวนา" ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๒๕ ฉบับที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๗, หน้า ๑๑๐ - ๑๒๕.
(3) ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ "เปิดแผนโจรใต้"28 เมษา" ปลุกผี"กบฏดุซงญอ" มติชนรายวัน วันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๔๗.
(4) ความเห็นชาวบ้านจากสมัยโน้น ในเฉลิมเกียรติ ขุนทองเพชร "การต่อต้านนโยบายรัฐบาลในสี่จังหวัดภาคใต้ของประเทศไทย โดยการนำของหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ พ.ศ. ๒๔๘๒-๒๔๙๗" วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. ๒๕๒๙, หน้า ๓๐-๓๑
(5) สมาชิกคณะราษฎรที่เป็นมุสลิมประกอบไปด้วย นายแช่ม พรหมยงค์, นายบรรจง ศรีจรูญ, นายประเสริฐ ศรีจรูญ, นายการิม ศรีจรูญ, ดู ศุขปรีดา พนมยงค์ "ชาวไทยมุสลิมในการเปลี่ยนแปลง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕" ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๒๕ ฉบับที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๔๗. หน้า ๑๐๖-๑๐๙.
(6) ข้อความข้างบนนี้มาจากคำไว้อาลัยของ พลโท ชิด มั่นศิลป สินาดโยธารักษ์ ใน พระยารัตนภักดี, ดินแดนไทยในแหลมทอง(แหลมมลายู) (กรุงเทพฯ, งานพระราชทานเพลิงศพพระยารัตนภักดี(แจ้ง สุวรรณจินดา), พ.ศ. ๒๕๑๕, หน้า ๑-๖.
(7) ดูรายละเอียดเบื้องหลังการจับกุมฮัจญีสุหลง ความไม่ลงรอยกันระหว่างฮัจญีสุหลงกับพระยารัตนภักดีที่มีมานานก่อนหน้าแล้ว ใน ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ "ความรุนแรงกับการจัดการความจริง….." บทที่ ๔. และ เฉลิมเกียรติ ขุนทองเพชร หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ กบฎ…หรือวีรบุรุษแห่งสี่จังหวัดภาคใต้ (กรุงเทพฯ, ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ, ๒๕๔๗).
(8) เรื่องโจรจีนคอมมิวนิสต์เข้ามาปล้นทำร้ายชาวบ้านฝั่งไทยนั้น เฉินผิง(จีนเป็ง) อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มลายา ได้เขียนในบันทึกของเขาว่า ในระยะสงครามโลกครั้งที่ ๒ และการต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นนั้นมีกลุ่มทหารจีนก๊กมินตั๋งเข้ามาร่วมขบวนกับ พคม.ด้วย แต่พวกนั้นมีพฤติการณ์เป็นโจรและทำร้ายชาวบ้านทั้งสองฝั่ง จึงถูกขับและปราบโดย พคม.เอง ต่อมาก็ยังมีกลุ่มโจรเล็กโจรน้อย ทำความเดือดร้อนอยู่เป็นประจำ เพราะภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง และการลักลอบค้าข้าวบริเวณชายแดนเป็นธุรกิจที่ทำเงินดีมาก แสดงว่าโจรจีนที่มาจากฝั่งมลายานั้นมีจริง แต่ไม่จำเป็นว่าเป็นพรรคคอมมิวนิสต์มลายาเสมอไป ดู Chin Peng, My Side of History as told to Ian Ward and Norma Miraflor (Singapore: Media Masters, 2003), p. 327-8.